วานนี้ (31 ม.ค.2559) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึง เนื้อหาสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ที่เริ่มมีผลบังคับใช้และเก็บจริงในวันนี้ว่า สำหรับผู้รับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีการรับมรดก หากผู้รับเป็นผู้สืบสันดานจะเสียร้อยละ 5 และหากผู้รับเป็นบุคคลภายนอกจะต้องเสียภาษีร้อยละ 10
ทรัพย์สินที่นำมาคิดการเสียภาษีมรดกมี 4 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์, หลักทรัพย์, เงินฝาก และยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยหลักการอสังหาริมทรัพย์และหลักทรัพย์ให้ใช้ราคาตลาดวันที่ผู้รับมรดกรับโอนทรัพย์สิน อย่างไรก็ตามกรมสรรพากรให้ผู้รับมรดกสามารถผ่อนการเสียภาษีได้ 5 ปี หากผ่อนไม่เกิน 2 ปี ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่หากเกิน 2 ปี ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ปี
ขณะที่กฎหมายยกเว้นผู้รับมรดกและไม่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ส่วนราชการ วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิหรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลัง สหประชาชาติ สถานทูต และบุคคลที่ได้รับมรดกที่เป็นเจ้าของมรดกแสดงเจตนาให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านศาสนา การศึกษาและกิจการสาธารณประโยชน์ ซึ่งกรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบว่าผู้ได้รับมรดกทำตรงตามความต้องการหรือไม่ หากไม่ตรงวัตถุประสงค์ก็จะเก็บภาษีมรดกย้อนหลังไปถึงวันที่ได้รับมรดกทันที นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องแจ้งเสียภาษีภายใน 15 นับจากวันรับมรดก
ด้านนายสมชาย แสงรัตนมณีเดช รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงผู้ที่ต้องเสียภาษีมรดกว่าขอให้ดูข้อกฎหมายให้ดี และมาเสียภาษีตามหน้าที่ เพราะหากตรวจเจอว่าไม่มาเสีย จะถูกยึด ถูกปรับเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายบาท ซึ่งการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มีรายงานก่อนการจัดเก็บภาษีมรดกมีผลบังคับใช้บรรดาผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ทยอยโอนหุ้นให้กับบุตรและเครือญาติจำนวนมาก ซึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า การที่ผู้บริหารเร่งโอนหุ้นในบุตรและเครือญาติ ถือว่าสามารถทำได้ไม่ผิดกติกา และไม่มีผลกระทบกับราคาในกระดานหลัก