กรมทรัพยากรธรณีชี้เหตุแผ่นดินไหวเนปาลไม่กระทบ 14 รอยเลื่อนไทย
นายสมบูรณ์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า 14 รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทยที่อาจเกิดแผ่นดินไหวได้ ยังไม่ได้รับผลกระทบ สำหรับโอกาสที่จะได้รับผลกระทบต่อไปก็มีเพราะว่ารอยเลื่อนของเนปาลต่อเชื่อมมาทางตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จนถึงกาญจนบุรี ซึ่งอาจมีการขยับตัวบ้างแต่ไม่รุนแรง สำหรับการเฝ้าระวังจะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามรอยเลื่อนที่ยังมีพลังในประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังทั้งหมด 14 รอยเลื่อน แต่ไม่ใช่รอยต่อของแผ่นเปลือกโลกแบบที่เป็นสภาพทางธรณีของเนปาลที่เกิดการเคลื่อนชนกัน โดยสามารถจัดกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญได้ 3 แนว ตามทิศทางการวางตัวและการเคลื่อนที่ คือ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งกระจายอยู่ใน 22 จังหวัด
1. รอยเลื่อนแม่จัน ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่
2. รอยเลื่อนแม่อิง ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงราย
3. รอยเลื่อนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุมพื้นที่ จ.ตาก
4. รอยเลื่อนเมย ครอบคลุมพื้นที่ จ. ตาก กำแพงเพชร
5. รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย
6. รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุมพื้นที่ จ.ลำปาง จ.แพร่
7. รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุมพื้นที่ จ.พะเยา จ.เชียงราย จ.ลำปาง
8. รอยเลื่อนปัว ครอบคลุมพื้นที่ จ.น่าน
9. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุมพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์
10. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุมพื้นที่ จ.กาญจนบุรี
11. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุมพื้นที่ จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี จ.ตาก
12. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์
13. รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุมพื้นที่ จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบ จ.คีรีขันธ์ และจ.พังงา
14. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุมพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา