ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดตำนานเชิดสิงโต 2,000 ปี ตกทอดเป็นมรดกศิลป์ทำหัวสิงโตในมาเลเซีย

ไลฟ์สไตล์
7 ก.พ. 59
00:30
4,448
Logo Thai PBS
เปิดตำนานเชิดสิงโต 2,000 ปี ตกทอดเป็นมรดกศิลป์ทำหัวสิงโตในมาเลเซีย
การผลิตหัวสิงโตในประเพณีเชิดสิงโตมีประวัติยาวนานนับ 1,000 ปี ซึ่งผู้ผลิตหัวสิงโตแต่ละแห่งต่างสร้างเอกลักษณ์ด้วยลวดลายเฉพาะตัว เพื่อให้หัวสิงโตสื่อถึงเอกลักษณ์ของชาวจีนที่เดินทางไปอาศัยอยู่ในทุกแห่งทั่วโลก

วันนี้ (6 ก.พ. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธรรมเนียมการลูบหัวสิงโตและมอบอั่งเปาทางปากสิงโตในช่วงเทศกาลตรุษจีน เป็นความเชื่อเรื่องโชคลาภของชาวจีนในมาเลเซียต่อประเพณีการเชิดสิงโต ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการขับไล่วิญญาณร้าย ไม่ให้มากล้ำกรายในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่

สถานที่ผลิตหัวสิงโตที่ได้รับความนิยมที่สุดในมาเลเซียได้แก่ โรงงานของเสี่ยวโหปิว ปรมาจารย์หัวสิงโตแห่งรัฐสลังงอร์ ผลงานของเขาได้รับความนิยมอย่างสูงจากคณะเชิดสิงโตทั่วมาเลเซีย เพราะสวยงามและราคาถูกกว่าสั่งจากเมืองจีน

ศิลปินวัย 61 ปีกล่าวว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาผลิตหัวสิงโตให้กับคณะของตัวเองเท่านั้น แต่ต่อมาหัวสิงโตของเขากลายเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งโรงงานในที่สุด

กระบวนการผลิตหัวสิงโตของเสี่ยวโหปิวมีด้วยกัน 3 ขั้นตอน เริ่มจากการขึ้นโครงด้วยหวายแล้วใช้อลูมิเนียมมาเป็นฐาน ต่างจากแบบดั้งเดิมที่ใช้ไม้ไผ่ เนื่องจากอลูมิเนียมมีน้ำหนักเบาและไม่แตกหักง่ายระหว่างการแสดง ขั้นตอนที่ 2 คือการปั้นรูปทรงด้วยกระดาษหรือเทคนิคเปเปอร์ มาเช ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการตกแต่งลวดลาย

เอกลักษณ์หัวสิงโตของเสี่ยวโหปิวคือลวดลายบาติกของมาเลเซีย เพื่อให้หัวสิงโตบ่งบอกสัญลักษณ์ของชาวมาเลย์

ในอดีตประเพณีเชิดสิงโตของคนจีนในมาเลเซีย ถูกนักการเมืองเชื้อสายมาเลย์สั่งควบคุมการแสดง โดยอนุญาตให้เชิดเฉพาะเทศกาลตรุษจีน ก่อนได้รับการผ่อนปรนนปี 1990 เป็นต้นมา นับจากนั้นประเพณีการเชิดสิงโตก็ได้รับความนิยม ทั้งในงานมงคลของคนเชื้อสายจีนและชาวเมเลเซียทั่วไป

เสี่ยวโหปิว กล่าวว่า เขาไม่เคยห่วงว่าศิลปะการทำหัวสิงโตจะหายไป เพราะประเพณีการเชิดสิงโตมีมานานนับ 1,000 ปี และจะคงสืบสานไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไปอีกยาวนาน

ประเพณีเชิดสิงโตมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อกว่า 2,000 ปี ที่แล้ว โดยรูปแบบการเชิดสิงโตแบ่งได้ 2 แบบกว้างๆ คือสิงโตจากสำนักทางเหนือ ที่เน้นความสนุกสนานพร้อมลีลากายกรรม ใบหน้าตกแต่งสีทอง ส่วนลำตัวประดับขนยาวรุงรังคล้ายสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง ส่วน สิงโตจากสำนักทางใต้จะมีเขาบนศีรษะ ร่างกายจะตกแต่งด้วยขนสัตว์ จุดประสงค์ของการเชิดเพื่อขับไล่วิญญาณร้ายและนำพาโชคลาภ

ในอดีตผู้เชิดสิงโตมักมาจากสำนักกังฟูและวูซู เนื่องจากการเชิดสิงโตต้องผสมผสานการกระโดด การเตะ การปีน และการรักษาสมดุล ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นของศิลปะการต่อสู้ทั้งสิ้น โดยศิษย์ที่มีฝีมือเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เชิดสิงโตได้

ยังมีการกล่าวอ้างด้วยว่า หากสำนักกังฟูแห่งไหนสามารถเชิดสิงโตได้ที่ละหลายๆ ตัว เป็นการการันตีว่าสำนักนั้นๆ เต็มไปด้วยยอดฝีมือนั่นเอง

 

เปิดตำนานเชิดสิงโต 2,000 ปี ตกทอดเป็นมรดกศิลป์ทำหัวสิงโตในมาเลเซีย http://news.thaipbs.or.th/content/7802 #ThaiPBSnews #เชิดสิงโต #ตรุษจีน #มาเลเซีย-----------------------------------------------------การผลิตหัวสิงโตในประเพณีเชิดสิงโตมีประวัติยาวนานนับ 1,000 ปี ซึ่งผู้ผลิตหัวสิงโตแต่ละแห่งต่างสร้างเอกลักษณ์ด้วยลวดลายเฉพาะตัว เพื่อให้หัวสิงโตสื่อถึงเอกลักษณ์ของชาวจีนที่เดินทางไปอาศัยอยู่ในทุกแห่งทั่วโลก

Posted by Thai PBS News on 6 กุมภาพันธ์ 2016

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง