ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยัน พืชผักส่วนใหญ่ปลอดภัย แม้การสุ่มตรวจยังพบปนเปื้อนสารเคมี

สิ่งแวดล้อม
21 เม.ย. 55
07:42
31
Logo Thai PBS
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยัน พืชผักส่วนใหญ่ปลอดภัย แม้การสุ่มตรวจยังพบปนเปื้อนสารเคมี

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่พืชผักที่ได้รับเครื่องหมายปลอดสารพิษอาจปนเปื้อนสารเคมี แต่พืชผักส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับปลอดภัย

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยอมรับว่า พืชผักที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร หรือ เครื่องหมาย คิว พบการปนเปื้อนเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิดที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ค่าความเป็นพิษ เพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายปี 2551 จึงได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการให้เพิ่มความเข้มงวดดูแลสินค้าตามมาตรฐานกำหนด ทั้งนี้ หากพบปัญหาดังกล่าวซ้ำเป็นครั้งที่สองจะยึดเครื่องหมายรับรองทันที

ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานผลการสุ่มตัวอย่างพืชผัก ในปี 2554 จากจำนวนตัวอย่างผัก 50 ชนิด ในหลายพื้นที่ในภาคกลาง พบว่า ผักปนเปื้อนสารเคมีร้ายแรงในสัดส่วนเกินมาตรฐาน ร้อยละ 40 ผักปนเปื้อนสารเคมี แต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนดร้อยละ 60 โดยมีเพียงร้อยละ 3-4 เท่านั้นที่ไม่พบสารเคมีปนเปื้อนเลย

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาขึ้นทะเบียนเคมีเกษตร หลังพระราชบัญญัติ ปรับปรุงแก้ไข ปี 2551 มีผลบังคับใช้ กรมวิชาการเกษตร อนุมัติเคมีเกษตรไปแล้วกว่า 1,100 รายการ จากทั้งหมดกว่า 4,000-5,000 รายการส่วนใหญ่เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และแมลง

ขณะที่สารเคมีในบัญชีเฝ้าระวังพิเศษ 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และ เมธโทมิลย์ ซึ่งเกษตรกรมักใช้ในนาข้าว แปลงข้าวโพด ถั่วฝักยาว แตงกวา ส้ม คะน้า ผักกาด กาแฟ และมะเขือชนิดต่าง ๆ 

โดยที่ประชุมอนุคณะกรรมการขึ้นทะเบียนสารเคมีเพื่อการเกษตรที่มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน ยังไม่มีการพิจารณา เนื่องจาก อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร งานวิจับ ผลวิเคราะห์ค่าความเป็นพิษ ประกอบการพิจารณา ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คาดว่า ข้อมูลทั้งหมดจะพร้อมเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน พิจารณาและทำประชาพิจารณ์ หากผลสรุปเสนอให้ระงับการใช้ ภายใน 1-2 เดือนนี้

นอกจากนี้ปีนี้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์การส่งออกข้าวทั่วโลกว่า เวียดนามจะส่งออกข้าวได้ 7 ล้านตัน, อินเดีย 7 ล้านตัน และไทย 6,500,000 ตัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง