กทม.เตรียมเสนอ วสท.เป็นหน่วยงานกลางรับรองมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค
นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงผลสรุปสาเหตุการทรุดตัวของถนนที่เกิดขึ้นทั้ง 4 แห่งในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เกิดจากการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคใต้ดินเมื่อเกิดการทรุดตัวหรือชำรุดเสียหาย ส่งผลให้ชั้นทรายใต้ถนนไหลท่อทำให้เกิดโพรงด้านล่าง และเมื่อถนนไม่สามารถรับน้ำหนักได้จึงเกิดการทรุดตัว ทั้งนี้เกิดจากการละเลยควบคุมการก่อสร้าง ไม่ได้มาตรฐานด้านวิศวกรรมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงโครงสร้างที่มีอายุการใช้งานมานาน เมื่อไม่มีการบำรุงรักษาจึงเกิดความเสียหาย
กรุงเทพมหานครจะประสานหน่วยงานต่างๆกำชับผู้จ้างเหมา ดำเนินการซ่อมแซมให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รวมทั้งเสนอตัวเป็นกรรมการตรวจการจ้าง โดยให้สำนักการโยธาศึกษารายละเอียดของกฏหมายเพื่อกำหนดมาตรการและบทลงโทษเอาผิดกับผู้รับเหมา นอกจากนี้เสนอให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นหน่วยงานกลางเพื่อตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน ส่วนการรายผลถนนที่มีการซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้งและเสี่ยงต่อการทรุดตัว ขณะนี้มีสำนักงานเขต รายงานมาแล้ว 16 เขต โดยจำนวนนี้พบว่ามีประวัติการซ่อมแซมถนนอยู่บ่อยครั้งจำนวน 40 จุดใน 12 เขต อาทิ ถนนพระราม 4 ถนนพญาไท ถนนเจริญกรุง ถนนวิทยุ ถนนราชวงศ์ ถนนทรงวาด ถนนราชดำริ เป็นต้น ส่วนอีก 4 เขต ไม่มีรายงานการซ่อมบำรุง ขณะที่สำนักงานเขตที่เหลืออีก 34 เขต ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่รายงานผลภายในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติงบประมาณซ่อมบำรุงรักษาสะพาน โดยให้สำนักการโยธา รับผิดชอบสะพานข้ามทางแยกต่างๆ จำนวน 42 แห่ง สะพานข้ามคลอง 1,080 แห่ง ทางลอดและอุโมงค์จำนวน 12 แห่ง และสะพานลอยคนข้ามอีก 565 แห่ง