ชาวไทยเชื้อสายมอญแห่หงส์ธงตะขาบในช่วงสงกรานต์
ธงตะขาบยาวราว 2 เมตร ฝีมือชาวบ้านชุมชนเลียบคลองมอญ ถูกนำแห่รอบวัดสุทธาโภชน์แล้วเชิญขึ้นเสาหงส์ เป็นประเพณีที่ชาวไทยเชื้อสายมอญทุกกลุ่มสืบปฏิบัติ เป็นการทำบุญอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ เชื่อกันว่าธงที่แขวนส่ายเพราะแรงลมเป็นการบอกรับบุญกุศลของบรรพบุรุษ และช่วยให้ผู้ล่วงลับได้ขึ้นสวรรค์
สำหรับหลายคนที่แปลกใจว่าทำไมผ่านวันสงกรานต์ไปแล้ว แต่ที่ชุมชนเลียบคลองมอญ ลาดกระบัง ยังมีการเล่นสงกรานต์กันอยู่ นั่นก็เป็นเพราะว่าสงกรานต์วิถีมอญที่นี่นั้น จะจัดขึ้นหลังจากสงกรานต์ไทยไปราว 1 สัปดาห์ค่ะ และถือว่าเป็นชุมชนพี่น้องกับมอญพระประแดง จึงกำหนดการจัดงานในวันที่ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญทั้งทั้งการขึ้นธงตะขาบ แห่หงส์ สรงน้ำพระ สืบทอดอยู่ในชุมชนแห่งนี้มาไม่น้อยกว่า 50 ปี และถือเป็นการสรงน้ำพระที่หาดูได้ยาก
การเทน้ำผ่านรางน้ำ โดยมีพระสงฆ์รับน้ำที่ปลายราง เป็นวิธีสรงน้ำพระแบบชาวมอญ เพื่อป้องกันไม่ให้สตรีถูกร่างกายของพระสงฆ์ขณะสรงน้ำ หลายปีมานี้ยังมีการส่งเสริมให้เรียนรู้ประเพณีผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การแต่งกาย การละเล่น เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนรักษารูปแบบประเพณีดั้งเดิม
กว่า 100 ปี ที่ชาวชุมชนเลียบคลองมอญ อพยพจากอำเภอพระประแดง มาตั้งถิ่นฐานย่านคลองมอญ และคลองลำปะทิว เขตลาดกระบัง โดยยังรักษาเอกลักษณ์ประเพณี และวัฒนธรรมแบบมอญ ผ่านกิจกรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วม โดยงานแห่หงส์ ธงตะขาบ สรงน้ำพระ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อมาด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา และสานต่อเจตนาของบรรพบุรุษ