ผลการศึกษาชี้รถโดยสารในไทยยังไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยสากล
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ในอดีตประเทศไทยเคยลงนามในความร่วมมือด้านมาตรฐานยานยนต์ระหว่างประเทศในการผลิตและใช้งานยานยนต์ แต่มาตรฐานดังกล่าวกลับถูกบังคับใช้เพียงบางส่วน คือ การติดตั้งเข็มขัดนิรภัย การทดสอบการทรงตัวของรถบนพื้นเอียงในรถโดยสารที่สูงกว่า 3.60 เมตร รวมถึงรถโดยสาร 2 ชั้น ซึ่งปริมาณรถที่ไม่ผ่านการทดสอบ ยังสูงถึงร้อยละ 20 ของรถที่จดทะเบียนใหม่
ขณะที่มาตรฐานอื่นที่สำคัญ ที่กรมการขนส่งทางบกยังไม่ได้บังคับใช้ คือ การทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างและเบาะที่นั่งซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุ
ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางในการกำหนดมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักสากล โดยเฉพาะในเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างรถ ตามที่เคยลงนามความร่วมมือ พร้อมยืนยันว่า รถโดยสารที่วิ่งให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ยังคงมีความปลอดภัยเพราะต้องผ่านการตรวจสภาพ ในทุก ๆ 6 เดือน
ขณะที่ นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไข แต่การดำเนินการดังกล่าวมีต้นทุนสูง จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาหาแหล่งทุนช่วยเหลือและกำหนดระยะเวลาให้อย่างเหมาะสม
ปัจจุบันมีรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ทั้งหมดกว่า 130,000 คัน ซึ่งหน่วยงานที่ทำการศึกษาเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยทั้งระบบ ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร การกำหนดมาตรฐานการให้บริการและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบมาตรฐานของรถที่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยลดความสูญเสียหากเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล