สวทช.เร่งปรับปรุงสายพันธุ์แตงกวา หวังป้องกันโรคราน้ำค้าง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดโครงการวิจัยสร้างแผนที่จีโนม สำหรับค้นหาตำแหน่งยีนต้านทานโรคราน้ำค้างในแตงกวา เพื่อปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืชแตงกวาให้มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ ขณะที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไทยต่ำกว่ามาตรฐานสากล
นายทวีศักดิ์ กออนันตกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลโยแห่งชาติ หรือ สวทช. ระบุว่า มีเป้าหมายเพื่อให้ได้แผนที่พันธุกรรมและทราบตำแหน่งของยีนต้านทานโรคราน้ำค้างในแตงกวา สำหรับใช้พัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลในการปรับปรุงพันธุ์แตงกวาให้ต้านทานโรคน้ำค้างต่อไป
ขณะที่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา โดยเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าเศรษฐกิจทั้งตลาดในและต่างประเทศปีละ 7,000 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชมากเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดโรคราน้ำค้างในแตงกวาระบาด จนแตงกวาไม่สามารถปรับตัวได้ ผลผลิตจึงลดลง จึงต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้อุตสาหกรรมมีคุณภาพมากขึ้น
ด้านนักวิจัยภาควิชาพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า การปรับปรุงสายพันธุ์แตงกวาครั้งนี้ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม แต่จะใช้เทคโนโลยีชีวภาพคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แตงกวา และใช้เครื่องหมายโมเลกุลคัดเลือกพันธุ์แตงกวาต้านทานโรคราน้ำค้าง ซึ่งจะใช้เวลาในการคัดเลือกพันธุ์นาน 3 ปี
โครงการวิจัยยังทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนไทย เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธ์เขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้