นักวิชาการชี้ รณรงค์ส่งเสริม
นักวิชาการ ระบุ การรณรงค์ส่งเสริมการอ่านของไทย มีข้อจำกัด ชี้ ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยไม่รักการอ่าน มาจาก “ระบบการเลี้ยงดู และระบบการศึกษา” แนะ ภาครัฐ ควรปฏิรูปทั้งระบบฯให้เป็นองค์รวม เชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศทุกด้าน พร้อมการบรรยายพิเศษ “เตรียมความพร้อมด้านการอ่านสู่ประชาคมอาเซียน” บนเวที TK Conference on Reading 2012
จากรายงานวิจัยเรื่อง “การรณรงค์ให้คนส่วนใหญ่รักการอ่านเพิ่มขึ้น” โดย รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า โครงการส่งเสริมการอ่านของไทยที่ทำกันมา ยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง แม้ว่าภาครัฐและภาคเอกชนของไทยตระหนักถึงเรื่องปัญหาคนไทยอ่านน้อย และจัดให้มีโครงการส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรักการอ่านหนังสือหลายโครงการ เช่น การให้รางวัลวรรณกรรม,การคัดเลือกและประกาศรายชื่อหนังสือดี, โครงการหนังสือเล่มแรก หรือ การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่มีทั้งการขายหนังสือ ลดราคา , นิทรรศการ ,การประชุมสัมมนาและการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านหนังสือด้วยวิธีการต่างๆ
แต่โครงการเหล่านี้เป็นโครงการโดดๆ เฉพาะกิจที่เข้าถึงและได้ผลเฉพาะเด็ก เยาวชน และประชาชนบางกลุ่มที่เข้าถึงโครงการหรือกลุ่มที่พอจะสนใจเรื่องการอ่าน หรือเห็นประโยชน์ของการอ่านอยู่บ้างแล้วเท่านั้น ทำให้โครงการส่งเสริมการอ่านเท่าที่ทำกันมาทั้งหมด ยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศได้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง โดยข้อจำกัดที่สำคัญคือ โครงการเหล่านี้ เลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหา มองปัญหาแบบแยกเป็นส่วนๆ และใช้โครงการส่งเสริมการอ่านเพิ่มเติมจากภายนอกระบบการเลี้ยงดูลูก และระบบการศึกษา ทั้งๆ ที่ ระบบการเลี้ยงดูเด็ก และระบบการศึกษาของไทย คือ สาเหตุหลักหรือต้นตอของปัญหาที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าไม่จำเป็นและนำไปสู่การไม่ชอบอ่านหนังสือ ดังนั้น หากจะรณรงค์ให้คนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศรักการอ่านเพิ่มขึ้นได้อย่างจริงจัง ต้องมุ่งแก้ไขที่สาเหตุหลักของปัญหาแบบผ่าตัดปฏิรูป ทั้งระบบการเลี้ยงดูเด็กและการศึกษาอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวมกับการพัฒนาประเทศในทุกด้าน
ขณะที่การส่งเสริมการอ่านของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศพม่า หนึ่งในสมาชิกประชาคมอาเซียนที่กำลังจะกลายเป็นพลเมืองอาเซียนในปี 2558 ซึ่งยอมรับว่า ที่ผ่านมาพม่าเป็นประเทศปิดแม้จะมีพื้นที่ชายแดนติดกับจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทย ทำให้การรับรู้เรื่องราวต่างๆภายในของประเทศพม่าค่อนข้างจำกัด แต่เมื่อ...วันนี้พม่าเปิดประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้ประเทศพม่าในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการส่งเสริมการอ่าน รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการศึกษาปัจจุบันเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้ผ่านบทบาทของ ‘ห้องสมุดพม่า’
โดยรายงานวิจัยของ ดร.ถั่น ทอ คอง (Dr. Thant Thaw Kaung) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์หนังสือพม่า ,ผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูห้องสมุดจากภัยพิบัตินาร์กิส ประจำประเทศพม่า(director of Nargis Library Recovery Foundation in Myanmar) และผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิห้องสมุดพม่า (executive director of Myanmar Library Foundation) ยอมรับว่า พม่าถือเป็นประเทศสุดท้ายที่เปิดตัวสู่โลกภายนอกหลังปิดประเทศมายาวนาน ทำให้พม่าอาจต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น รัฐบาลพม่าจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกระทรวงการศึกษาและการสาธารณสุข พร้อมกับ องค์กรภาคเอกชน หรือกลุ่ม NGOs จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
“ที่ผ่านมาห้องสมุดของพม่ายังไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลพม่าเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันในปีงบประมาณ 2012-2013 รัฐบาลพม่าได้มีการปรับงบประมาณในการพัฒนาด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของปีที่แล้ว แม้หลายฝ่ายจะยินดีกับการปรับเพิ่มครั้งนี้ แต่งบประมาณที่ได้ก็ยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย แต่นำไปใช้ในการฝึกอบรมครูและพัฒนาห้องสมุดน้อยมาก ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ของพม่าระบุว่า ในฐานะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างพม่า อย่างน้อย ร้อยละ 14 - 20 ของงบประมาณที่จัดสรรให้กับภาคการศึกษาทั้งหมด นอกจากนี้พม่ายังมีความท้ายทายในการส่งเสริมการพัฒนาความรู้อื่นๆ อีกมาก”
ส่วนแนวทางการแก้ไขและการส่งเสริมการพัฒนาความรู้และส่งเสริมการอ่านในประเทศพม่ารวมถึงข้อเสนอแนะของนักวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร ตลอดจนความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน(ASEAN community) ด้านนโยบายการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การส่งเสริมการอ่านของประเทศสมาชิกฯ จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ใน งานประชุมวิชาการประจำปี 2555 (TK Conference on Reading 2012)
ทั้งนี้ การจัดประชุมวิชาการประจำปีดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) ซึ่งจัดกิจกรรมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 กระทั่งในปี 2554 ที่ผ่านมา สอร.มีแนวคิดให้การส่งเสริมการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมแก่เด็กและเยาวชนไทย ที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองอาเซียน จึงได้จัดสัมมนาวิชาการครั้งแรกขึ้น เรื่อง “อ่านเพื่อนบ้าน กับประสบการณ์ส่งเสริมการอ่าน” และการประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2011 ซึ่งมีประเทศสมาชิกจากกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมถึง 7 ประเทศด้วยกัน