เสนอ กนอ.ต้องเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานบีเอสที เหตุระเบิดในมาบตาพุด
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงงานบีทีเอสว่า ตามที่ได้เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง จนทำให้มีคนงานเสียชีวิตไป 5 คนและบาดเจ็บไปกว่า 70 คนเมื่อบ่ายวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมิใช่เป็นเหตุครั้งแรกของบริษัทนี้ เพราะเมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม 2552 ก็เคยเกิดสารเคมีรั่วไหลขณะขนถ่ายสารเคมีขึ้นมาจากท่าเรือมาบตาพุดแล้วครั้งหนึ่ง
จากการตรวจสอบของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพบว่าโรงงานดังกล่าวเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-สิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์ใน การนำมิกซ์ซีโฟว์จากโรงงานผลิตโอเลฟินส์ มาสกัดหรือแปรรูปให้เป็นอนุพันธ์ซีโฟว์ต่าง ๆ และราฟฟิเนท-1 เช่น สาร 1,3 บิวทาไดอีน สารเอ็มทีบีอี และบิวทีน-1 และมีสารซี 4-แอลพีจี และสาร 1,2 บิวทาไดอีน นอกจากนี้ยังได้มีการขยายธุรกิจผลิตยางสังเคราะห์ E-SBR (Emulsion Styrene-Butadiene Rubber) และ ยางสังเคราะห์ BR (Polybutadiene Rubber) ภายใต้ชื่อ บริษัท บีเอสทีอิลาสโตเมอร์ จำกัดด้วย
เมื่อโรงงานดังกล่าวเกิดการระเบิดและไฟไหม้ จะก่อและแพร่กระจายมลพิษออกมามากมายประกอบไปด้วย 1)ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) 2)ฝุ่นละอองรวม (TSP) 3)สาร Non Methane Hydrocarbon (NMHC) 4)สาร Methyl Tertiary Butyl Ether (MTBE) 5)สาร Total Hydrocarbon (THC) 6)สาร 1,3 บิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ที่เป็นอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง 19 ชนิดตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวได้ขอขยายโรงงานและการผลิตเพิ่มเติมโดยได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งจากเอกสารรายงาน EHIA ดังกล่าวถูกคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ได้ท้วงติงความไม่สมบูรณ์หลายประการ และรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการระเบิดและไฟไหม้จนทำให้คนงานต้องมาเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนี้ ชี้ให้เห็นว่าโรงงานดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างหรือขยายกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้อีกต่อไป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐผู้กำกับดูแลและให้ใบอนุญาต คือ กนอ. และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานดังกล่าวโดยทันที เพื่อปกป้องวิถีชีวิตของชาวบ้านใน 30 กว่าชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่มาบตาพุดและคนงานต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อการจัดการโรงงานที่ผิดพลาดล้มเหลวต่อโรงงานอื่น ๆ ต่อไป รวมทั้งบริษัทที่ให้ใบรับรอง ISO 14001 และ ISO/OHSAS 18001 แก่โรงงานดังกล่าวก็จะต้องพิจารณาตรวจสอบและทบทวนการให้ใบรับรองดังกล่าวด้วย รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะต้องทบทวนการเป็นสมาชิกในโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ของโรงงานดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้หน่วยงานรัฐดังกล่าวต้องกำกับดูแลให้บริษัทดังกล่าวจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับคนงานที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งค่าตกใจให้กับชาวชุมชนมาบตาพุดโดยรอบในอัตราสูงสุดตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ประกอบพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 กำหนดด้วย
สมาคมฯจักได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการและจี้ให้ กนอ. และ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานดังกล่าวต่อไป รวมทั้งจักยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่สมาคมร่วมกับชาวบ้าน 43 รายได้ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐดังกล่าวต่อศาลปกครองแล้วต่อไปด้วย