ผู้เชี่ยวชาญสารเคมีระบุว่ายังมีสารเคมีที่มาบตาพุดยังอันตราย
หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานปิโตรเคมี กรุงเทพ ซินธิติกส์ ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน น.ส.วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารเคมี เปิดเผยว่า สารโทลูอีนที่ตกค้างหลังเหตุระเบิด และเพลิงไหม้ที่โรงงาน โดยลำพังจะระเหยง่าย แต่เมื่ออยู่ในบรรยากาศที่มีโอโซน และแสงแดด จะคงตัวอยู่ได้นานถึง 27,950 วัน หรือมากกว่า 76 ปี
สำหรับในพื้นที่มาบตาพุดมีการตรวจพบสารโอโซน โดยกรมควบคุมมลพิษ ในจำนวนเกินค่ามาตรฐานทุกปี และในทุกสถานีตรวจวัดของพื้นที่มาบตาพุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าสารโทลูอีนที่ปล่อยออกมาจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ จะคงอยู่ยาวนานมากกว่า 2 วัน และอาจมากถึง 70 กว่าปี เพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะได้รับสารโทลูอีน ซึ่งมีฤทธิ์เฉียบพลัน คือ ระคายเคืองจมูกปอด และเจ็บในทรวงอก
ส่วนในระยะยาว สารโทลูอีนมีพิษต่อตับ ไต สมอง กระเพาะปัสสาวะ และระบบประสาท รวมทั้งพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ดังนั้นมาตรการเฝ้าระวังสารเคมีปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในระยะนี้จึงไม่ควรประกาศว่าสถานการณ์เป็นปกติแล้ว
นอกจากนี้ น.ส.วลัยพร ยังระบุด้วยว่า การเฝ้าระวังค่าปนเปื้อนของสารเคมีในอากาศยังจำเป็นต้องตรวจวัดสารเคมีอีกหลายชนิด ไม่ใช่เพียงสารโทลูอีนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเพลิงไหม้โรงงานครั้งนี้ ทำให้สารโทลูอีนถูกเผาไหม้ ก่อปฏิกิริยาทางเคมีเปลี่ยนเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายได้อีกหลายชนิด เช่น หากโทลูอีนถูกเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ จะเกิดสารคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้คลื่นไส้ เวียนหัว จนถึงหมดสติ และเสียชีวิตได้หากได้รับในปริมาณมาก และหากเผาไหม้เกือบสมบูรณ์ จะเกิดสารคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นพิษเมื่อสูดดม ระคายเคืองผิวหนัง ระคายตา ทางเดินหายใจส่วนบน และยังเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ควันดำที่เห็นจากเหตุเพลิงไหม้ เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า สารโทลูอีนได้ถูกเผาไหม้อย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องทางเคมี กลายเป็นสารเคมีอีกหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารอันตราย และมีฤทธิ์เฉียบพลัน บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวังค่าปนเปื้อนของสารเคมีอื่นๆ และแจ้งผลให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
ส่วนการให้ข้อมูลทั้งจากบริษัท และหน่วยงานรัฐ ที่เฉพาะเจาะจงที่สารโทลูอีน และการย้ำว่า ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง จึงถือเป็นการบิดเบือนข้อมูล ทำให้ความน่ากลัวของเหตุการณ์น้อยลง ซึ่งเข้าใจได้ในแง่ที่ไม่อยากให้สาธารณชนแตกตื่น อย่างไรก็ตาม อาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่นหน่วยกู้ภัย และนักข่าวที่เข้าไปทำข่าวหรือชุมชนรอบๆ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และไม่ป้องกันตัวอย่างเพียงพอ
ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลมาบตาพุด ก่อนเข้ารับฟังการบรรยายสรุปกรณ์ที่เกิดขึ้น โดยนายอภิสิทธิ์ เสนอให้รัฐบาลใช้กรณีนี้เป็นบทเรียนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับชุมชนมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจพัฒนาในพื้นที่อื่น
นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความเป็นห่วง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เกี่ยวกับการดูแลสิทธิชุมชน เพราะก่อนหน้านี้คนในรัฐบาลมีแนวคิดว่ามาตรานี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เพราะทำให้ต้องไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพก่อน อีกทั้งไม่มีการยืนยันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรานี้จนกระทั่งกฎหมายตกไป จึงอยาก ส.ส.ร.ที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ด้วย
ส่วนการลงพื้นที่ของ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม และนายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงาน และตัวแทนผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดการปัญหาการรั่วไหลของก๊าซจากโรงงาน บริษัท อาดิตยา เบอร์ล่า เคมีคอลล์ ประเทศไทย จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก เมื่อคืนวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดย รมว.อุตสาหกรรม กำชับหน่วยงานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรียกประชุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสารเคมี หรือสารอันตราย เพื่อเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นในการควบคุมป้องกัน และนำไปใช้เป็นแผนปฏิบัติการในนิคมอุตสาหกรรมอื่นด้วย
ส่วนในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) จะมีการหารือถึงมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นต้องมีการตรวจสอบแผนป้องกันความเสี่ยง ของแต่ละโรงงาน ทุก 3 เดือน โดยก่อนจะต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุกครั้ง จะต้องมีการตรวจสอบอีกครั้ง
นอกจากนี้ รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า หากโรงงานมีการกระทำผิดกฎระเบียบ หรือผิดกฎหมาย ก็จะไม่ปกป้องโรงงาน โดยจะคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก