3 กระทรวง เตรียมประกาศพื้นที่อนุรักษ์สมุนไพรป่าเขตร้อนเพิ่ม 9 แห่ง

Logo Thai PBS
3 กระทรวง เตรียมประกาศพื้นที่อนุรักษ์สมุนไพรป่าเขตร้อนเพิ่ม 9 แห่ง

3 กระทรวงลงนามบันทึกตกลงความร่วมมือกันอนุรักษ์สมุนไพรไทยในป่าเขตร้อน หลังสำรวจพบว่ามีพืชสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 50 ชนิดที่ขึ้นในป่า และนำมาเป็นยารักษาโรคได้และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ได้ หากไม่ได้รับการคุ้มครอง ขณะเดียวกันเตรียมประกาศพื้นที่อนุรักษ์ในเขตป่าเพิ่มเติมอีก 9 แห่ง

จากนี้ไปสมุนไพรหายาก อาทิ เถาวัลย์เปรียง, กำลังวัวเถลิง, เจตมูลเพลิงแดง, เนระพูสี, ฮ่อสะพายควาย, กำลังเสือโคร่ง, จันทน์ขาว, จันทน์แดง, สบู่เลือด, สมอ (ทุกชนิด), พญารากดำ และแส้ม้าทะลาย รวมทั้งสมุนไพรชนิดอื่นของแต่ละพื้นที่ และสมุนไพรที่ใช้บ่อยและกำลังอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ เช่น กวาวเครือขาว จันทน์ขาว จันทน์แดง ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรไทยจากทั้งหมดกว่า 50 ชนิดที่ขึ้นในพื้นที่ป่าของประเทศไทย จะได้รับการอนุรักษ์ คุ้มครอง และส่งเสริมการใช้สมุนไพรและถิ่นกำเนิด ปี 2555 ถึง 2559 หลังจากที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกันระหว่าง 3 กระทรวงในวันนี้ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
โดยพื้นที่ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์สมุนไพรจะห้ามมิให้ผู้ใดยึดครอง ปลูกหรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา หรือทำลายต้นไม้ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป หากมีการบุกรุกจะมีโทษตามกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้มีพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตคุ้มครองสมุนไพรแล้ว 20 แห่ง และเตรียมขยายไปยังพื้นที่ในและนอกเขตอนุรักษ์ อีก 9 แห่งได้แก่ ป่าคำหัวแฮด จังหวัดอุดรธานี,ป่าหนองแปน จังหวัดบึงกาฬ,ป่าดงเค็ง จังหวัดขอนแก่น,ป่าวัดเขาพนมกาว จังหวัดพิจิตร,ป่าวัฒนธรรมหนองฮี จังหวัดมหาสารคาม,ป่าชุมชนหนองสำแฮด จังหวัดยโสธร,ป่าศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร,ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง และ ป่าวัดโป่งคำ จังหวัดน่าน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและศึกษาสมุนไพรในพื้นที่  
 
ขณะนี้ตลาดโลกมีความต้องการสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพืชสมุนไพรที่ซื้อขายในตลาดการค้าส่วนใหญ่มาจากป่าธรรมชาติ ซึ่งไทยมีป่าเขตร้อนที่มีพืชสมุนไพร ที่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น รู้จักคุณสมบัติและนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์รูปแบบต่าง ๆ ประมาณ 800- 1,800 ชนิด นำมาใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาไทย บางชนิดใช้เป็นยาเดี่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติ หรือใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ทำเป็นพื้นที่ทำกินและเป็นที่อยู่อาศัย เป็นการทำลายแหล่งกำเนิดของสมุนไพรด้วย ทำให้พืชสมุนไพรหลายชนิด ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เรื่อย ๆ ในอนาคต และสมุนไพรบางตัวยังไม่มีการศึกษา เพื่อนำมาเพาะปลูกทดแทน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง