รายชื่อ
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (Royal Ploughing Ceremony) พุทธศักราช 2555 ทำขวัญธัญญาหารพืชพันธุ์ มอบความเชื่อมั่นสู่เกษตรกรไทย
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ มายังพลับพลาที่ประทับ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2555 ฤกษ์พิธีไถหว่านระหว่างเวลา 08:19 - 08:59 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือพระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2555 และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันพุธที่ 9 พฤษภาคม 2555 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปีอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา
การจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ในระหว่างช่วงเวลา 08:19 - 08:59 น. ผู้ทำหน้าที่ เป็นพระยาแรกนาปี 2555 คือ นายศุภชัย บานพับทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวศิริลักษณ์ สมสกุล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ กรมชลประทาน และนางสาวเจษฎาภรณ์ สถาปัตยานนท์ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวสุมาลี จำเริญ นิติกรปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ และนางสาวสุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร คู่เคียงมีจำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ ฟ้า และ ใส พระโคสำรอง ได้แก่ เทิด และ ทูน
ในวันประกอบพระราชพิธีนั้น จะได้มีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป ได้แก่ หากหยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่ม จะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ในการนี้ นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์เสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา และพระโคกินเลี้ยง
นอกจากนี้พราหมณ์จะเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค ซึ่งผลเสี่ยงทาย คือ หากพระโคกิน ข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี พระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และหากพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา ลงมติให้เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ ของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดให้มีการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2555 เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีรายชื่อดังนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2555 จำนวน 15 สาขาอาชีพ คือ
1) อาชีพทำนา ได้แก่ นายไพโรจน์ พ่วงทอง จ.เพชรบุรี
2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นางประมวญ ทั่งทอง จ.ตราด
3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายประทิน อ่อนน้อย จ.กาญจนบุรี
4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นายหนูทัศน์ คำแพง จ.ร้อยเอ็ด
5) อาชีพปลูกหม่อนไหม ได้แก่ นางบุญสิน ราษฎร์เจริญ จ.ขอนแก่น
6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายซิมโอน ปัญญา จ.เชียงใหม่
7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายประชิต อนุกูลประเสริฐ จ.ขอนแก่น
8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายธนา วิศวฤทธิ์ จ.สตูล
9) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายไพรัตน์ ชื่นศรี จ.บุรีรัมย์
10) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นางมณฑา สร้อยแสง จ.ราชบุรี
11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายธีรภัทร อุ่นใจ จ.จันทบุรี
12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อ เกษตรกรรม ได้แก่ นายสุเทพ เพ็งแจ้ง จ.พิจิตร
13) สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายสมบัติ วิเชียรณรัตน์ จ.นครราชสีมา
14) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายบรรทม แก้วอาษา จ.อุดรธานี
15) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นางสาวสุนิสา อุยะตุง จ.ตราด
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2555 จำนวน 12 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด จ.พัทลุง
2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์ จ.ราชบุรี
3) กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่แม่กลอง จ.ตาก
4) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนบ้านปางมะนาว จ.กำแพงเพชร
5) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มกองทุนประมงทะเลพื้นบ้าน บ้านแหลมเทียน จ.ตราด
6) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มแปรรูปเนื้อสัตว์บ้านท่าค้ำ จ.น่าน
7) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองเต่า จ.น่าน
8) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านสร้างก่อ จ.อุดรธานี
9) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านดงสวรรค์ จ.สกลนคร
10) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ 4 ฝายธาตุน้อย จ.อุบลราชธานี
11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านนาพิน จ.อุบลราชธานี
12) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลห้วยแก้ว จ.พิจิตร
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2555 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ
1) สหกรณ์การเกษตรทั่วไป ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเวียงสา จำกัด จ.น่าน
2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมไทย – เดนมาร์ก พัฒนานิคม จำกัด จ.ลพบุรี
3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมนครชุม จำกัด จ.กำแพงเพชร
4) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด กรุงเทพมหานคร
5) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จำกัด จ.ภูเก็ต
6) สหกรณ์บริการ ได้แก่ สหกรณ์เดินรถเพชรบูรณ์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์
7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองห้าง จำกัด จ.กาฬสินธุ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดินเพื่อเข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2555 จำนวน 3 สาขา คือ
1) สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณปการต่อภาคการเกษตรไทย ได้แก่ นายเสริมลาภ วสุวัต จ.นนทบุรี
2) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายขวัญชัย รักษาพันธ์ จ.ฉะเชิงเทรา
3) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายจาง ฟุ้งเฟื่อง จ.ชุมพร
4) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายอัมพร ด้วงปาน จ. สงขลา