หากพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งที่พลัดตกลงมาระหว่างติดป้ายโฆษณา อาคารใบหยก จากการหักตัวของกระเช้า มีสลิงเกี่ยวที่ลำตัวของพวกเขากับตัวนั่งร้าน ตามมาตรฐานของผู้ปฏิบัติงานนอกตึกสูงทั่วไปปฏิบัติ แม้ลวดสลิงที่นั่งร้านจะขาดพนักงานทั้ง 3 คน ก็จะไม่ตกลงมาจนเสียชีวิต
สมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มองว่า ไม่เพียงประสบการณ์การทำงาน ทักษะ ความเชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์เซฟตี้ชุดโรยตัวได้เป็นอย่างดี สำหรับกลุ่มอาชีพเสี่ยงหัวใจสำคัญ คือ ต้องรู้จักวิธีป้องกันตัวเอง โดยติดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นเชือกสลิงโรยตัว เข็มขัดนิรภัย หมวกนิรภัยตลอดการปฏิบัติงาน
ขณะเดียวกันสมบุญ ก็ระบุว่า เหตุการณ์นี้ เกิดจากการละเลยต่อการตรวจสอบอุปกรณ์การทำงานให้อยู่ในสภาพที่ได้มาตรฐาน ความประมาทเลินเล่อ และขาดการประเมินความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง
พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ของกระทรวงแรงงาน กำหนดไว้ว่า นายจ้าง ต้องซ่อมแซมตรวจสอบอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยทุกประเภทให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทดสอบการรับน้ำหนัก จัดทำแผนความปลอดภัยประเมินความเสี่ยง และฝึกอบรมเรียนรู้การใช้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยให้กับลูกจ้าง โดยต้องผ่านมาตรฐานการรับรองจากวิศวกรรม ซึ่งที่ผ่านมากฏหมายนี้ ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง และมีช่องโหว่
ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เห็นด้วยว่า ถึงเวลาที่กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเหลียวมาจัดการปัญหาเรื้อรังนี้ โดยเพิ่มบุคลากรด้านอาชีวอนามัยให้เพิ่มขึ้น หลังพบว่า บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัย มีเพียง 200 คนเท่านั้น สวนกระแสกับจำนวนลูกจ้างกว่า 170,000 คน
ขณะเดียวกัน การเรียกร้องนายจ้างให้ยอมลงทุนทำประกันชีวิต เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อลูกจ้างในกลุ่มอาชีพเสี่ยง ที่ต้องลงทุนเอาชีวิตมาเสี่ยงเพื่อแลกกับค่าตอบแทน