ชนกลุ่มน้อย ในพม่ายื่นคำขาดทบทวนการลงนามหยุดยิง หากกองทัพพม่าไม่ยุติโจมตีรัฐคะฉิ่น
สำนักข่าวอิรวดี รายงานว่า สภาชาติสหภาพ (United Nationalities Federal Council -UNFC) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยและองค์กรชนกลุ่มน้อยรวมมทั้งสิ้น 12 กลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ยื่นคำขาดให้รัฐบาลพม่ายุติโจมตีรัฐคะฉิ่นภายในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ไม่เช่นนั้นทางชนกลุ่มน้อยติดอาวุธจะทบทวนการบรรลุการลงนามหยุดยิงร่วมกับรัฐบาลพม่า
พันเอกขุนโอกก่า เลขาธิการร่วม UNFC เปิดเผยว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union -KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party – KNPP) พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party -NMSP) จะกลับมาพิจารณาการลงนามหยุดยิงร่วมกับรัฐบาลพม่า หากกองทัพพม่าไม่ยุติโจมตีรัฐคะฉิ่น ซึ่งการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่ชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการโจมตีทางภาคเหนือของรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น นั่นก็เป็นเพราะรัฐบาลพม่าต้องการที่จะปกป้องการค้าและผลประโยชน์ทางธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติในพม่า เราขอคัดค้านการเข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยในประเทศเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ
แม้จะมีคำสั่งจากประธานาธิบดีเต็งเส่งให้ยุติโจมตีรัฐคะฉิ่นตั้งแต่วันที่ 10 เดือนธันวาคมของปีที่แล้ว แต่ก็พบว่ายังคงเกิดการสู้รบกันต่อเนื่องในรัฐคะฉิ่น ล่าสุด ทหารพม่าได้เพิ่มกำลังกว่า 2 พันนายไปประจำใกล้กับกองบัญชาการใหญ่ของ KIA ในเมืองไลซา และนับตั้งแต่ที่ทั้งสองฝ่ายกลับมาสู้รบกันอีกครั้ง ก็มีรายงานการปะทะกันแล้ว 1,300 ครั้ง
ฃในแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้นานาชาติอย่าเพิ่งยกเลิกคว่ำบาตรทั้งทางการเมือง การทหารและด้านเศรษฐกิจต่อพม่า ขุโอกก่ายังกล่าวว่า ยินดีที่รัฐบาลพม่าเปลี่ยนทีมเจรจาชุดใหม่ แต่การเจรจาจะไม่ประสบความสำเร็จหากรัฐบาลพม่ายังคงไว้นโยบายที่ใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากนโยบายภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่งในปัจจุบันคือให้กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยสร้างพรรคการเมืองแล้วลงเลือกตั้ง และเข้าร่วมขั้นตอนทางการเมืองผ่านวิถีทางของรัฐสภา โดยกลุ่ม UNFC เอง ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2008 อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับที่นั่งในสภาราว 25 เปอร์เซ็นต์ก็ถูกสำรองไว้ให้ทหารพม่า ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเป็นของฝ่ายกองทัพพม่า
ด้านขุนโอกก่า ระบุว่า ปัญหาทางการเมืองในพม่าที่ดำเนินมาหลายสิบปีควรแก้ด้วยการเจรจาทางการเมือง เช่นเดียวกับไนหงสา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม UNFC กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลกดดันให้พรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยยอมรับขั้นตอนทางการเมืองในปัจจุบันมากเกินไป ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากนโยบายก่อนหน้านี้ที่บังคับให้กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) จนเป็นสาเหตุให้ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มยกเลิกการลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า
ขณะที่กลุ่ม UNFC ประกอบไปด้วยกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง มอญ คะเรนนี ไทใหญ่ (SSA – เหนือ)คะฉิ่น ชิน ปะโอ ปะหล่อง อาระกันเป็นต้น และยังมีองค์กรของชนกลุ่มน้อยอื่นๆเข้าร่วมเป็นสมาชิกรวมทั้งสิ้น 12 กลุ่มโดยก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว