“อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ”ชี้ “แฝดน้อง” อาจได้เงินชดเชยหลักแสนในคดีจับผิดตัว
นายพิทยา จินาวัฒน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ไทยพีบีเอส ถึงแนวทางการช่วยเหลือและเยียวยาคดีผู้ต้องหาฝาแฝดถูกจับกุมผิดตัวในคดีทำร้ายร่างกายว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ กรมคุ้มครองสิทธิฯเคยให้ความช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์จนได้รับการประกันตัว แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 4 ปี
ดังนั้นในขั้นตอนต่อไป ยังคงต้องให้การช่วยเหลือตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นการยื่นต่อสู้คดีในชั้นฎีกา ด้วยการจัดทนายในการต่อสู้คดีและเนื่องจากมีข้อเท็จจริงใหม่ที่อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานซึ่งมีการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัวระหว่าง "นายอเนก อุ่นวงษ์" แฝดผู้พี่เป็น "นายอานนท์ อุ่นวงษ์" แฝดผู้น้องแทน ซึ่งจะใช้หลักฐานของลายนิ้วมือประกอบ รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ ประกอบการพิจารณาในชั้นฎีกา
หากศาลยกคำร้องกรมคุ้มครองสิทธิฯจะให้ความช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งจะช่วยเหลือเป็นเงินประมาณ 80,000- 150,000 บาท ซึ่งคำนวณจากเงินเยียวยาวันละ 200 บาท คูณจำนวนวันที่ถูกคุมขัง ซึ่งกรณีของนายอานนท์จะอยู่ที่ราว ๆ 100,000 กว่าบาท รวมถึงการรักษาพยาบาลในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ หรือป่วยในระหว่างการถูกคุมขังซึ่งจะดูแลจนถึงที่สุด
ขณะที่นายอานนท์ยังมีคดีค้างเก่า ซึ่งได้แก่คดีวิ่งราวทรัพย์ซึ่งยังคงอยู่ในกระบวนยุติธรรม และเป็นคนละคดีกัน ซึ่งกรณีที่จะได้รับเงินชดเชยนั้นเป็นในส่วนของคดีการจับผู้ต้องหาผิดตัวในคดีทำร้ายร่างกายเท่านั้น
รวมถึงการประสานไปยัง สำนักงานจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการประสานความช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยเยียวยากรณีที่ตำรวจการะทำความผิดจากการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว ซึ่งวงเงินชดเชยนั้นขึ้นอยู่กับระเบียบของสตช.ที่จะเป็นผู้กำหนดว่าจะจ่ายเงินเยียวยาจำนวนเท่าใด
อย่างไรก็ตาม นายพิทยา แนะนำว่า ประชาชนทั่วไปที่ถูกกระทำล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพทางกฎหมายอาญา หรือ ถูกกระทำล่วงเกินทางสิทธิเสรีภาพ โดยเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือได้ทันที ผ่านสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยหากประชาชนติดต่อขอความช่วยเหลือโดยเร็วจะทำให้การพิจารณาคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และโดยที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบลดลง และจะสามารถช่วยเหลือได้ง่ายขึ้นหากกระบวนการยังไม่เข้าสู่การพิจารณา
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรมยังคงมีช่องว่างทางกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.ค่าตอบผู้เสียหายฯ นั้นครอบคุมเฉพาะจำเลยและประชาชนทั่วไปซึ่ง กรณีของ “ผู้ต้องหา” ซึ่งกฎหมายยังครอบคลุมไม่ถึงซึ่งจำเป็นต้องร่างกฎกระทรวงเพื่อแก้ไขต่อไป รวมถึงการปรับปรุงกระบวนพิจารณาคดีในทุกขั้นตอนทั้งชั้นพนักงานสอบสวน อัยการและศาล รวมถึงกรมคุ้มครองสิทธิฯที่ต้องทำงานเชิงรุกมายิ่งขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมีการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัวหลายครั้ง อาทิ เมื่อเดือน ม.ค.ปี 54 ตำรวจสถานีคำรวจนครบาลสายไหมจับกุม น.ส.อรทัย พลเสน ซึ่งเป็นการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัวและทำการกุมขังในเริอนจำนานถึง 7 วัน ซึ่งสุดท้ายพิสูจน์ได้ว่า เป็นการจับผิดตัว ซึ่งสตช.ได้จ่ายเงินเยียวยาเป็นจำนวนกว่า 20,000 บาท
รวมถึงคดีของนายสมใจ แซ่ลิ้ม อาชีพรับจ้างเลี้ยงสุกร อยู่ที่ จ.เพชรบุรีซึ่งถูกจับกุมข้อหามียาบ้าในครอบครองซึ่งต่อมาพิสูจน์ได้ว่า เป็นการจับกุมผิดตัว เนื่องจากข้อมูลของทะเบียนราษฎรมีชื่อนายสมใจ แซ่ลิ้มอยู่ถึง 20 คน ซึ่งกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้มอบเงินเยียวยา 300,000 บาทในคดีดังกล่าว