รองประธานาธิบดีพม่าบวชเป็นพระ
เมื่อพูดถึงเรื่องการปฏิรูปตอนนี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองทีเดียวเพราะล่าสุดนายติน อ่อง มิน อู รองประธานาธิบดีที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วยและถือว่าเป็นแกนนำฝ่ายหัวอนุรักษ์ในรัฐบาลได้ยื่นจดหมายลาออก และบวชเป็นพระ นักวิเคราะห์มองว่าการลาออกของเขาอาจจะทำให้การปฏิรูปประเทศของ พล.อ.เต็งเส่งเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการคาดเดาถึงผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทนรวมถึงความเป็นไปได้ที่นางอองซาน ซูจีอาจได้รับข้อเสนอให้ขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายติน อ่อง มิน อู รองประธานาธิบดีของพม่า เข้าพิธีบวชเป็นพระเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา และแม้ว่าเขาจะยื่นจดหมายลาออกให้กับ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีไปแล้ว แต่ทางการพม่าก็ยังไม่ชี้แจงและยังไม่รู้ว่า พล.อ.เต็งเส่งยอมรับใบลาออกหรือไม่ ส่วนสาเหตุที่บวชเป็นพระนั้น ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่เป็นไปได้ว่าอาจจะมีสาเหตุจากปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมานายติน อ่อง มิน อู เคยเดินทางไปรักษาอาการป่วยโรคมะเร็งที่ลำคอในสิงคโปร์ และอีกสาเหตุหนึ่งมีการมองว่าเขาอาจถูกขับออกจากตำแหน่ง โดยให้เขียนจดหมายลาออกเพื่อรักษาหน้า ขณะที่เว็บไซท์อิระวดีระบุว่าการบวชในครั้งนี้ เหมือนกับเป็นการยืนยันว่านายติน อ่อง มิน อู ได้พ้นจากตำแหน่งแล้ว
หากเขาลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีจริง อาจทำให้การทำงานเพื่อปฏิรูปพม่าเป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนายติน อ่อง มิน อู มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และยังมีแนวคิดสนับสนุนโครงการสร้างเขื่อน "มิตโสน" ซึ่งถูกระงับไปเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากประชาชนประท้วงไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ทำให้ พล.อ.เต็ง เส่ง ตัดสินใจระงับโครงการ หากเขาลาออกจริงก็จะทำให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ในระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.เต็ง เส่งได้ปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ โดยเริ่มจากการปลดกลุ่มหัวแข็งออกจากรัฐบาล, ปลดหรือไล่ออกเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานไร้ประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานที่เน้นปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
แม้ยังไม่ชัดเจนว่าการลาออกของนายติน อ่อง มิน อู จะมีผลหรือไม่ แต่ตอนนี้เริ่มมีการพูดถึงบุคคลที่จะมารับตำแหน่งรองประธานาธิบดี คนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือนายฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นนายพลที่มีอิทธิพลอันดับ 3 ว่า อาจได้รับเลือกให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.เต็งเส่ง และนายฉ่วย มาน จะมีความเห็นขัดแย้งเรื่องการร่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าหากนายฉ่วย มาน ได้ขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดี ความขัดแย้งก็น่าจะบรรเทาลง นอกจากนี้ ยังทำให้นายฉ่วย มาน มีโอกาสมากขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2558 และในตอนนั้นเขาอาจจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของพม่า เนื่องจาก พล.อ.เต็งเส่งประกาศไว้แล้วว่าเขาจะไม่รับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2
และหากนายฉ่วย มาน ได้เป็นรองประธานาธิบดีจริง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะว่างลง แลร์รี่ จาร์เก้น ผู้สื่อข่าวที่ติดตามเรื่องพม่าเป็นเวลานานได้อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลพม่าว่า พล.อ.เต็งเส่งต้องการให้นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านขึ้นมารับตำแหน่งนี้ นักการทูตในพม่าบอกว่านางซูจีเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่าไม่ต้องการรับตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐบาล เพราะเธอต้องการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.คอยตรวจสอบนโยบาย และการทำงานของรัฐบาล แต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอาจทำให้นางซูจีทำในสิ่งที่เธออยากทำได้มากกว่าแค่เป็นผู้นำพรรคเสียงข้างน้อยในสภา