ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มก.เพาะอ้อยพันธุ์ใหม่"กำแพงแสน 01-12 "ลำต้นใหญ่ โตเร็ว

สิ่งแวดล้อม
18 พ.ค. 55
15:52
547
Logo Thai PBS
มก.เพาะอ้อยพันธุ์ใหม่"กำแพงแสน 01-12 "ลำต้นใหญ่ โตเร็ว

อ้อย เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้อ้อยน้ำตาล กากน้ำตาล กากอ้อย ยังมีบทบาทด้านพลังงาน สามารถแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง เอทานอล เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน หรือ ดีเซล ช่วยลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนและการนำเข้าพลังงานได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ยังคงมีปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสูง ขาดแคลนอ้อยพันธุ์ดีที่มีผลผลิตและค่าความหวานสูง และพบว่ายังไม่สามารถต้านทานโรคแมลงและการระบาดของศัตรูพืชได้

 ศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่สำคัญในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์อ้อยเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีกว่ามาตรฐาน เหมาะสมกับการใช้เพื่อการผลิตน้ำตาลและพลังงานในแต่ละเขตการปลูกอ้อยของประเทศโดยใช้ชื่อพันธุ์ “กำแพงแสน” (กพส, Kps) ล่าสุดได้มีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยขึ้นใหม่ จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์อ้อยกำแพงแสน 00-57 และกำแพงแสน 00-103 เป็นพันธุ์ที่ได้รับการผสมในปี 2000 และพันธุ์กำแพงแสน 01-12 เป็นพันธุ์ที่ได้รับผสมในปี 2001 โดยทั้ง 3 พันธุ์มีพันธุ์กำแพงแสน 94-13 เป็นพันธุ์แม่และพันธุ์อู่ทอง 3 เป็นพันธุ์พ่อ  มีลักษณะโดดเด่น 

 
อ้อยพันธุ์กำแพงแสน 01-12 เป็นพันธุ์ที่ทนแล้ง มีการเจริญเติบโตเร็ว อายุเก็บเกี่ยวเร็ว ผลผลิตสูง ความหวานสูง ไม่ค่อยพบการออกดอก มีจำนวนลำต่อไร่ 8,000-10,000 ลำ ดินที่เหมาะสมคือดินทรายหรือดินร่วนทราย และพบโรคแส้ดำในอ้อยตอในบางสภาพพื้นที่ อ้อยพันธุ์กำแพงแสน 00-103 เป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว อายุเก็บเกี่ยวเร็ว ผลผลิตสูง ความหวานสูง ทรงกอตั้งตรงแข็งแรง มีความทนแล้งปานกลาง มีจำนวนลำต่อไร่ 8,000-10,000 ลำ  ปลูกได้ในดินทุกประเภท พบโรคแส้ดำ 
 
อ้อยพันธุ์กำแพงแสน 00-57 เป็นพันธุ์ที่มีผลผลิตสูง ความหวานสูง ทนแล้งค่อนข้างดี มีการเจริญเติบโตปานกลาง อายุเก็บเกี่ยวเร็ว ทรงกอตั้งตรง พบการออกดอกบางพื้นที่ มีจำนวนลำต่อไร่ 9,000-11,000 ลำ และปลูกได้ในดินทุกประเภท 
 
รศ.เรวัต เลิศฤทัยโยธิน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล กล่าวว่า ได้มีการดำเนินการนำพันธุ์อ้อยไปปลูกขยายพันธุ์ที่โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและกระจายพันธุ์อ้อยใหม่ โดยในปี 2554 ดำเนินการไปแล้ว 15 สถานที่ ส่วนในปี 2555 จะดำเนินการ 6 สถานที่ นอกจากนี้ยังให้บริการทางวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการพันธุ์อ้อยให้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมแต่ละรายจะได้รับแจกพันธุ์อ้อยประมาณ 1 ตัน นำไปปลูกขยาย  ซึ่งจะสามารถนำไปปลูกได้ประมาณเกือบ 1 ไร่ 
 
รศ.เรวัต เสริมว่า การเพิ่มผลผลิตอ้อยสามารถทำได้หลายวิธี  การใช้พันธุ์ดีเป็นแนวทางหนึ่งที่มีข้อดีในด้านที่มีผลกระทบต่อการเพิ่มต้นทุนการผลิตอ้อยต่ำ ดังนั้นเกษตรกรจึงนิยมอ้อยพันธุ์ดี เพื่อปลูกในแปลงของตนเป็นอย่างมาก แต่หากมีการปลูกพันธุ์อ้อยพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จะเป็นการสะสมโรค เนื่องจากอ้อยมีการขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์และในการปลูกมีการไว้ตอ ทำให้มีพันธุ์อ้อยนั้นในพื้นที่เดิมเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ก็เป็นการสะสมโรคในพื้นที่นั้น การมีพันธุ์ใหม่ทดแทนจะเป็นการตัดวงจรการสะสมของโรคในท่อนพันธุ์และในดิน
  
โดยเกษตรกรและผู้สนใจสามารถหาข้อมูลและความรู้ได้ภายในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2555 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในส่วนแสดงผลงานนวัตกรรมเพื่อประชาชน อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ วันที่ 30 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจที่จะนำพันธุ์อ้อยกำแพงแสนไปปลูกทดลอง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อสอบถามถึงความพร้อมของพันธุ์อ้อยและช่วงเวลาที่ต้องการได้ที่โทร 034 281 671
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง