ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนความทรงจำ ณ ทุ่งมะขามหย่อง จาก "ทุ่งนา" สู่ "โครงการแก้มลิง" ในพระราชดำริ

24 พ.ค. 55
14:21
170
Logo Thai PBS
ย้อนความทรงจำ ณ ทุ่งมะขามหย่อง จาก "ทุ่งนา" สู่ "โครงการแก้มลิง" ในพระราชดำริ

จดจำกันว่าทุ่งมะขามหย่องคือสมรภูมิรบสร้างวีรกรรมมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่อีกบทบาทของทุ่งแห่งนี้รวมถึงอีกหลายท้องทุ่งในที่ลุ่มภาคกลางล้วนเป็นพื้นที่รับน้ำสำคัญ ที่เป็นทั้งยุทธศาสตร์ทางการศึกและอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ

<"">
 
<"">

พันธุ์ข้าวหอมทุ่งที่ยืดตัวได้สูงกว่า 3 เมตร เป็นภาพติดตาของนายบุญเชิด ธนิศะ ครั้งที่นาริมทุ่งมะขามหย่องต้องเผชิญกับน้ำท่วมสูงเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้วคุณลักษณะพิเศษของข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวฟางลอยที่เหมาะกับพื้นที่ ทำให้ชาวนาแถบนี้นิยมปลูกในสมัยก่อน หากระยะหลังการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพันธุ์ข้าวที่พัฒนาใหม่ เน้นปริมาณผลผลิตแต่ไม่อาจยืดตัวหนีน้ำได้ มีผลให้ปีที่น้ำมาก นาข้าวส่วนใหญ่จึงได้รับความเสียหาย แม้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง วิถีชาวทุ่ง และความทรงจำถึงวีรกรรมทุ่งมะขามหย่อง อาจห่างไกลจากการรับรู้ของคนรุ่นหลัง แต่สำหรับชายชราวัย 72 ปี เรื่องราวเหล่านี้ยังอยู่ในความจดจำเสมอมา

บริเวณนี้คือทุ่งมะขามหย่องที่อาจจะให้ภาพของการเป็นสมรภูมิรบในประวัติศาสตร์ก็จริงอยู่ แต่อีกความสำคัญหนึ่งที่มีมาตั้งแต่อดีตก็คือการเป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลากเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งพื้นที่แก้มลิงของทุ่งมะขามหย่องและทุ่งภูเขาทอง เกิดจากการพัฒนาภูมิศาสตร์อันเหมาะสมนี้ซึ่งก็เป็นภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ทุ่งภูเขาทอง ทุ่งมะขามหย่อง  ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ และทุ่งหันตรา เป็นตัวอย่างของทุ่งสำคัญรอบเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเคยมีไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ช่วยรับน้ำป้องกันน้ำท่วมพระนครตั้งแต่อดีต ชัยภูมิเมืองน้ำอันเหมาะสมจากการมีน้ำท่วมถึงกว่า 6 เดือนเกือบทุกปี นอกจากเป็นกำแพงธรรมชาติป้องกันข้าศึก หลังน้ำลดยังทิ้งสารอาหารบำรุงดินเหมาะกับงานเพาะปลูก และทำให้กรุงเก่าเจริญขึ้นจากการเป็นเมืองท่า เส้นทางการค้าหลักของภูมิภาค การขยายพื้นที่อุตสาหกรรมทับทางน้ำระยะหลัง เปลี่ยนแปลงระบบทุ่งที่เคยเอื้อประโยชน์กับวิถีคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการระบายน้ำจากพื้นที่

เหมือนเช่นดังบทเพลง "ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมสุข แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา" เพลงยาวไทยรบพม่า ที่ประพันธ์โดย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สะท้อนภาพชีวิตชาวกรุงศรีอยุธยาในอดีตที่เรียนรู้ในการอยู่กับน้ำ และมีประเพณีที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่นพิธีเสี่ยงทายนาเดือน 11 และพิธีไล่น้ำเดือน 12 รวมถึงการละเล่นเพลงเรือหน้าน้ำโดยอาศัยประโยชน์จากทุ่งรับน้ำ จนถึงวันนี้ 16 ปีแล้ว ที่ทุ่งมะขามหย่องและทุ่งภูเขาทองได้รับการพัฒนาในโครงการพระราชดำริแก้มลิงเอื้อประโยชน์แก่พื้นที่เกษตรกรรมและยังเป็นขวัญกำลังใจกับชาวอยุธยา      


ข่าวที่เกี่ยวข้อง