จับตาอนาคตอียิปต์ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี
พรรคภราดรมุสลิมเชิญผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง รวมทั้งนักการเมืองคนสำคัญคนอื่น ๆ ร่วมพูดคุยในการหารือที่อ้างว่ามีเป้าหมายเพื่อกอบกู้ประเทศการหารือมีขึ้นหลังการนับคะแนนแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 90 ชี้ให้เห็นว่านายโมฮัมเหม็ด มัวร์ซี ผู้สมัครของพรรคมีคะแนนนำ ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 25.3 ตามมาด้วยนายอาห์เหม็ด ชาฟิค ผู้สมัครที่เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนสุดท้าย
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่นายฮอสนี มูบารัค อดีตประธานาธิบดีจะถูกโค่นจากตำแหน่ง ซึ่งนายชาฟิคกวาดคะแนนเสียงได้ร้อยละ 24.9 จึงค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า นายมัวร์ซี จากพรรคภราดามุสลิม และนายชาฟิค จะต้องลงเลือกตั้งรอบ 2 ในวันที่ 16-17 มิ.ย.นี้ต่อไป และน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ดุเดือดมาก เพราะตัวเต็งทั้ง 2คน มีคะแนนทิ้งห่างกันไม่ถึง 100,000 คะแนนแต่ยังต้องรอการประกาศผลการเลือกตั้งรอบแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 พ.ค.
การชิงชัยระหว่างผู้สมัครตัวแทนของพรรคภราดรมุสลิมที่ร่วมในการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ที่มีเป้าหมายปกครองประเทศด้วยกฏหมายอิสลามกับผู้สมัครที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดเก่า และยังได้รับการหนุนหลังจากกองทัพทำให้เกิดความกังวลไม่น้อยในกลุ่มประชาชนอียิปต์ ว่าจะทำให้การปฏิวัติประชาชนเพื่อมุ่งสู่แนวทางประชาธิปไตยของพวกเขา ต้องจบลงในเวลาเพียงปีกว่า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคภราดรมุสลิม ต้องเร่งเจรจาหาพันธมิตรที่มีภาพลักษณ์ของการปฏิรูป และดำเนินนโยบายสายกลาง เพื่อดึงคะแนนเสียงของประชาชนอีกมากกว่าร้อยละ 40 ที่ลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นๆ
มีการประเมินว่า ไม่ว่านายมัวร์ซี หรือนายชาฟิคจะเป็นผู้ชนะ ก็จะไม่ช่วยให้ความตึงเครียดหลังการสิ้นสุดการปกครองของนายมูบารัคลดน้อยลง เพราะกลุ่มที่ต่อต้านขั้วอำนาจเก่าออกมาประกาศแล้วว่า หากนายชาฟิคชนะก็จะออกมาประท้วงขับไล่ แต่ถ้าหากนายมัวร์ซีชนะก็อาจทำให้ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพรรคภราดรมุสลิมกับกองทัพ เพิ่มสูงขึ้นก่อนหน้านี้จึงมีเสียงเรียกร้องให้ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้ง
แต่สำหรับชาวอียิปต์ทั่วไปเพียงแต่ต้องการให้ผู้ที่ได้เป็นประธานาธิบดี คำนึงถึงประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะที่ผ่านมาชาวอียิปต์ต้องเผชิญกับปัญหามากมายและหากผู้ที่เป็นประธานาธิบดีทำหน้าที่ได้ไม่ดี เมื่อครบวาระ 4 ปีก็ต้องจากไป ดังนั้นไม่ว่าใครจะขึ้นเป็นผู้นำประเทศก็ไม่น่าจะมีปัญหา