ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลอาญาสั่งจำคุกผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทในคดีหมิ่นเบื้องสูง 1 ปี

30 พ.ค. 55
14:49
13
Logo Thai PBS
ศาลอาญาสั่งจำคุกผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทในคดีหมิ่นเบื้องสูง 1 ปี

วันนี้ที่ศาลอาญา รัชดา มีคำพิพากษา ในคดีหมิ่นเบื้องสูง กรณีผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ที่ถูกกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือ 8 เดือน และโทษจำคุกให้รอลงอาญา เป็นที่น่าสังเกตว่าคดีนี้ได้รับความสนใจติดตามจากบรรดาสื่อมวลชนต่างชาติ และนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มพิจารณาคดี เพราะตัวจำเลยมีบทบาทในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ถึง 13 ปี นอกจากนี้ ยังเป็น 1 ในผู้หญิงไทยที่ได้รับรางวัลความกล้าหาญในการทำหน้าที่สื่อมวลชน

แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี และลดโทษจำคุก 1ใน3 เหลือโทษจำคุก 8 เดือน และโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1  ปี คดีนางจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่นางจีรนุช ยืนยันสู้คดีต่อ

คดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นฟ้องจำเลย โดยระบุว่าจำเลยปล่อยให้มีโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ซึ่งกระทบความมั่นคงของประเทศอยู่ในเว็บบอร์ดประมาณ 10 กระทู้ โดยมีข้อความหนึ่งปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดนานถึง 20 วัน

ใจความส่วนหนึ่งของการพิจารณาระบุว่าการให้บริการทางเว็บบอร์ด ข้อความที่ผู้ใช้บริการโพสต์ได้ปรากฏขึ้นทันที โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ล่วงหน้า ซึ่งตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ว่าด้วยความรับผิดชอบของผู้ใช้บริการไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องเวลาว่าจะต้องให้จัดการกับข้อความที่ผิดกฎหมายภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการแจ้งเตือน

แต่หากจะถือว่าผู้ให้บริการยินยอม และต้องรับผิดชอบโดยทันที ถือว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการ แต่หากผู้ให้บริการจะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้พ้นจากความผิด ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ส่วนข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในเว็บบอร์ดที่มีข้อความหนึ่งปรากฎนานถึง 20 วัน ซึ่งศาลเห็นว่าในฐานะผู้ดูแลรับฟัง จะปฏิเสธไม่ได้รับรู้ถึงการนำเข้าของข้อมูล จึงถือว่าเป็นการยินยอม จงใจ หรือ สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด

ก่อนหน้านี้ ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 เมษายน เนื่องจากคดีนี้มีเอกสารที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก ทำให้องค์กรสิทธิ และองค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อระหว่างประเทศ เช่น พันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) เห็นว่าการเลื่อนนัดฟังคดีเป็นการหล่อเลี้ยงบรรยากาศของความกลัวให้ยาวนานยิ่งขึ้นในวงการอินเทอร์เน็ตไทย

พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อปกป้องสิทธิของ ตัวกลาง คือผู้ให้บริการ ให้เป็นบรรทัดฐาน โดยมองว่าผู้บริการต้องตั้งเงื่อนไขจำนวนมากกับผู้ใช้บริการ หรือผู้โพสต์ความเห็น ซึ่งเกิดการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และจะทำให้ผู้ใช้บริการหันไปใช้พื้นที่ของเว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ดที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้มาตรการทางกฎหมายไม่บรรลุวัตถุประสงค์
ทำให้กรณีนี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศรวมถึงเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกนัดจนถึงวันตัดสิน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง