นักวิชาการยังมีความเห็นต่าง
ก่อนจะมีข้อสรุปว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 4 ฉบับที่ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ร่างกฎหมายทางการเงิน เมื่อวานนี้ ( 31 พ.ค.) ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อตีความซึ่งแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่สามารถสรุปความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และประธานคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย เดินออกจากห้องประชุมหรือวอล์คเอาต์
แต่ท้ายที่สุดองค์ประชุมที่เหลือลงมติ ตามข้อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยมีมติ 22 ต่อ 1 เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ไม่เข้าข่ายเป็นร่างกฎหมายการเงิน ตามมาตรา 143 ที่ระบุไว้ว่า กฎหมายการเงิน คือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร-เงินงบประมาณ
ขณะที่การวิเคราะห์ของนักวิชาการหลายคนยังมีความเห็นที่แตกต่างออกไป เช่น รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ บอกว่า ต้องตีความจากเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าไม่ใช่ร่างกฎหมายการเงิน
ขณะที่ รศ.มนตรีโสคติยานุรักษ์ อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากนิด้า บอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่ร่างกฎหมายการเงิน พร้อมชี้แจงว่า กฎหมายการเงินต้องเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับหน่วยงาน อาทิ พ.ร.บ.การเงินการคลัง,พ.ร.บ.สถาบันการเงิน หรือ กฎหมายภาษี
ส่วนนายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการเงินการคลังชี้ชัดทันทีว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ร่างกฎหมายการเงิน เพราะผลของกฎหมายทำให้ต้องจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะเมื่อกฎหมายมีผลให้ต้องชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ