ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับทิศทางตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายหลังน้ำท่วม...สดใสจริงหรือไม่

เศรษฐกิจ
2 มิ.ย. 55
08:20
35
Logo Thai PBS
 จับทิศทางตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายหลังน้ำท่วม...สดใสจริงหรือไม่

โดย ปราณิดา ศยามานนท์

ยอดคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอาจยังไม่สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการ restocking สินค้าที่หายไปในช่วงน้ำท่วม ขณะที่อุปสงค์ของตลาดหลักยังไม่มีปัจจัยขับเคลื่อนให้เติบโตมากนัก   

การผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ค่อยๆ ทยอยกลับมาฟื้นตัวภายหลังวิกฤติน้ำท่วม แม้ว่าโดยภาพรวม การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายหลังจากวิกฤติน้ำท่วมยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยในไตรมาส 1 ปี 2012 หดตัวราว 20%YOY เป็นการหดตัวของการผลิต Hard Disk Drive รวมไปถึงแผงวงจรไฟฟ้า เนื่องจากโรงงานยังอยู่ในช่วงของการซ่อมแซมและสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่

แต่หากดูเทียบเดือนต่อเดือน จะเห็นตัวเลขการผลิตที่ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมีนาคมก็กลับมาเป็นบวกที่ 7%YOY เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตุลาคม ปี 2011 เนื่องจากโรงงานบางส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของโรงงานที่ได้รับผลกระทบ เริ่มกลับมาเดินเครื่องผลิตและส่งออกได้บ้างแล้วและคาดว่าในไตรมาส 3 ปี 2012 โรงงานประมาณ 70-80% น่าจะกลับมาผลิตได้ตามปกติ

แต่การฟื้นตัวของคำสั่งซื้อน่าจะมาจากผลของการสะสมสินค้าคงคลังที่หายไปในช่วงน้ำท่วมเป็นหลัก  หากดูจากดัชนีชี้นำการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่สำคัญ คือดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตของสหรัฐฯ หรือ ISM manufacturing ในส่วนของคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเพิ่มขึ้นมาถึงระดับ 58.2 ในเดือนเมษายนจากระดับ 50 ในช่วงกรกฎาคมปี 2011 และ semiconductor book-to-bill ratio ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่เกินกว่าระดับ 1.0 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2012 ซึ่งเครื่องชี้ทั้ง 2 ตัวนี้ดูเหมือนจะชี้ว่าทิศทางการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในระยะ 3 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

แต่คาดว่าน่าจะเป็นคำสั่งซื้อเพื่อมาทดแทนสินค้าคงคลัง (restocking) ที่หายไปในช่วงน้ำท่วมเป็นสำคัญ เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมส่งผลให้ supply chain ของโลกหยุดชะงักลงและทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์หายไปจากตลาดโลกราว 20%

 เห็นได้จากตัวเลขสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากแล้วและกำลังจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อที่ขยายตัว (การเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังของสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในระยะ 3 เดือนข้างหน้าได้ประมาณ 60-70%) สอดคล้องกับการส่งออกของประเทศผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญในเอเชียอาทิ ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่คำถามที่ตามมาคือ เมื่อสินค้าคงคลังเพิ่มกลับมาอยู่ในระดับปกติแล้ว ยังมีอุปสงค์มากพอที่จะทำให้ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับมาคึกคักได้หรือไม่?

แม้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่คาดว่ายังไม่น่าจะโดดเด่นนัก เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดสำคัญทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นทั้งตัวเลขการจ้างงานและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเติบโตเพียงในบางกลุ่มสินค้า

โดยตลาด Tablet และ smartphone ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตมีส่วนทำให้ยอดขายคอมพิวเตอร์ PC มีแนวโน้มชะลอลง เห็นได้จากยอดขายคอมพิวเตอร์ PC ในสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 2 ที่ลดลงราว 5%YOY ทั้งนี้ แม้ว่าการออกระบบปฏิบัติการตัวใหม่คือ Windows 8 ในช่วงปลายปี 2012 นี้อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้บ้าง

แต่โดยภาพรวมความต้องการคอมพิวเตอร์ไม่น่าจะเร่งตัวโดดเด่นมากนัก เนื่องจากถ้าดู cycle การลงทุนในด้าน IT ของภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ในอดีตโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 6 ปี ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจมีการลงทุน upgrade ระบบคอมพิวเตอร์ (PC refresh cycle) ไปค่อนข้างมากแล้วโดยเฉพาะในช่วงปี 2010 ประกอบกับผลกำไรของภาคธุรกิจที่แม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่คาดว่ายังไม่น่าจะขยายตัวมากนัก ดังนั้น cycle ของการลงทุนในสินค้า IT รอบนี้น่าจะเริ่มทรงตัว นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดสำคัญอย่างสหภาพยุโรปก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง เห็นได้จากยอดการส่งสินค้า (shipment) semiconductor ไปยังสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ติดลบ 16%YOY

การปรับตัวแสวงหาตลาดส่งออกอื่นๆ มาชดเชยน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้าง แต่ยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนประกอบเพื่อนำไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปค่อนข้างมาก ซึ่งหากตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัว ตลาดส่งออกเหล่านี้ก็ไม่น่าจะขยายตัวได้มากนัก ดังนั้น ในช่วงที่ตลาดยังซบเซา ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม น่าจะอาศัยโอกาสนี้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มที่จะต้องซ่อมแซม ฟื้นฟูโรงงานและสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งพัฒนาอบรมทักษะแรงงานมีฝีมือที่มีแนวโน้มขาดแคลนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง