กสทช.สั่งปรับค่ายมือถือวันละ 1.8 แสนบาท เหตุกำหนดวันใช้งานพรีเพด-ไม่บันทึกข้อมูลผู้ใช้บริการ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าปรับทางปกครองขึ้นมาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.55 เพื่อบังคับให้ปฎิบัติตามข้อ 11 ของประกาศ กทช.และวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯจึงมีการกำหนดค่าปรับผู้ประกอบการ และได้สั่งปรับวันละ 100,000 บาท กับผู้ให้บริการ ค่ายมือถือทั้ง 5 ราย ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม กรณีตัดเงินคงเหลือในระบบเติมเงิน หรือพรีเพด ของผู้ใช้บริการ
ขณะที่ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11 ระบุว่าการให้บริการโทรคมมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่า บริการเป็นการล่วงหน้าจะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า ซึ่งผู้ให้บริการทั้ง 5 ราย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม โดยได้รับร้องเรียนจากผู้ใช้บริการว่า หากเติมเงินเข้าระบบ 300 บาท จะมีระยะเวลา 30 วัน แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีมูลค่าคงเหลืออยู่ แต่กลับถูกตัดเงิน ซึ่งการกระทำของผู้ให้บริการถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศของ กสทช.
ทั้งนี้ กสทช.ได้สั่งปรับเงินอีกวันละ 80,000 บาท กรณีที่ผู้ให้บริการทั้ง 5 รายไม่ยอมเก็บข้อมูลผู้ใช้ในระบพรีเพดตามที่ กสทช.ได้กำหนดไว้ ซึ่งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีอยู่ของ กสทช. ส่งผลกระทบใน 3 ด้านหลัก คือ 1.ผลกระทบต่อกิจการโทรคมนาคม2. การกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม 3.ผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
โดยนายฐากรกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะเปิดให้ผู้ให้บริการยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ให้บริการได้เคยขอขยายเวลาเป็น 60 วัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และหากยังเป็นปัญหาอยู่ ผู้ให้บริการสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้
ขณะที่ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่กสทช.ควรจะดำเนินการมานานแล้ว เนื่องจาก ค่ายมือถือทั้ง 5 ราย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศ กสทช.เพราะเม็ดเงินในระบบมือถือแบบเติมเงินนั้นมีเงินหมุนเวียนมหาศาล เช่น ปัจจุบันบ้านเรามีคนใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินถึง 64 ล้านเลขหมาย หากบริษัทมือถือยึดเลขหมายเพียงเลขหมายละ 1 บาท ก็ได้ถึง 64 ล้านบาท แต่ถ้า 1 เลขหมายมีเงินค้างอยู่ 20 บาท 50 บาท 200 บาท รวมกันแล้วจะเป็นวันละหลายล้านบาท หากมีการสั่งห้ามไม่ให้ค่ายมือถือผู้ให้บริการยึดเงินที่ผู้ใช้มือถือพรีเพดใช้งานยังไม่หมด จะทำให้บริษัทเสียรายได้ปีละเป็นจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ยังเห็นว่าจำนวนเงินค่าปรับวันละ 100,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไป จึงอยากให้เลขาฯ กสทช. จริงใจกับผู้บริโภคมากกว่านี้ ถึงแม้จะมีการปรับเกิดขึ้นจริงแต่ถ้าผู้บริโภคยังถูดตัด ก็ไม่แน่ใจว่าการยึดเงินจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างไร
ส่วนกรณีที่เปิดโอกาสให้ทางค่ายมือถือมีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 15 วัน หรืออาจร้องฟ้องต่อศาลปกครองก็ได้ว่ากฎหมายมีบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2549 แล้วแต่ไม่บังคับใช้ กม. สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้บริษัทยื่นฟ้อง กสทช. และยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ประกาศก็ยังบังคับใช้ได้เหมือนเดิม แต่ กสทช.กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมา 7 ปี แม้ครั้งนี้บริษัทมีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทรณ์ หรือฟ้องศาลได้ก็จริง แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาออกมา กสทช.ก็ไม่ควรชะลอการบังคับใช้กฎหมายตามประกาศ
ขณะที่การประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบสัญญา 3 จี ระหว่าง กสท และกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น ที่มีนายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ เป็นประธาน ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และเลื่อนการประชุมไปเป็นวันนี้ (6 มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลาที่ทางบอร์ดโทรคมนาคมกำหนดไว้