สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารชี้แจงทำความเข้าใจต่อกรณีที่อัยการสูงสุดไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดย เห็นว่าอัยการสูงสุดสามารถใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ ขณะที่เป็นสิทธิของผู้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และ มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการกับศาลนั้นมีความแตกต่างกัน โดยอัยการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อนแล้วจึงใช้ดุลพินิจว่า จะยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลหรือไม่ ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของศาลต้องรับคำฟ้องหรือคำร้องให้เป็นคดีก่อน จึงจะพิจารณาพยานหลักฐานของทุกฝ่าย การทำหน้าที่ของอัยการจึงเป็นคนละส่วนกับอำนาจของศาล และการไม่ยื่นคำร้องของอัยการจึงไม่เป็นการตัดอำนาจของศาล ในการที่จะรับคำร้องของผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับกรณีที่คณะตุลาการศาลถูกข่มขู่นั้น ทาง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และ ภาค 7 จัดกำลังดูแลประธานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการ และครอบครัว รวมถึงบ้านพัก สถานที่ทำงาน และเส้นทางสัญจร ตลอด 24 ชั่วโมง โดยยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่จะป้องกันไม่ให้มีการคุกคามคณะตุลาการศาล ภายหลังมีการเผยแพร่หมายเลขโทรศัพท์ของคณะตุลาการพร้อมครอบครัวผ่านทางอินเตอร์เน็ต
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเมินภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. หน้ารัฐสภาก่อนที่จะมีการยุติการชุมนุมว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ยังกำชับให้ผู้ปฏิบัติฝึกซ้อมกำลังพลอย่างต่อเนื่อง โดยให้เน้นการข่าว และตรวจสอบความเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งการตรวจค้นอาวุธ การปลุกระดมมวลชน โดยให้ฝ่ายสืบสวนเพิ่มชุดบันทึกภาพและเสียง และประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่ม เพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีในภายหลัง