ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสนอนายกฯ ขยายนโยบายรักษาโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว

สังคม
19 มิ.ย. 55
15:48
18
Logo Thai PBS
เสนอนายกฯ ขยายนโยบายรักษาโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว

นักวิชาการและเครือข่ายผู้ป่วย เสนอนายกฯ ให้ขยายนโยบายให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หลังพบว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ขณะที่ผู้ป่วยแต่ละกองทุนก็ยังได้รับการรักษาในมาตรฐานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการเข้าถึงยาราคาแพงคอร์สละกว่า 1 ล้านบาท ที่มีเพียงข้าราชการเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษาในขณะนี้

สาวโรงงาน วัย 31 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรอง กับโครงการการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี 1 ล้านคน ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ผลการตรวจคัดกรองของเธอ ระบุว่า อยู่ในระยะที่กำลังจะป่วยเป็นโรคนี้ เธอจึงนำผลการตรวจ ไปยื่นให้กับโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ใช้สิทธิประกันสังคม เพื่อทำการรักษาต่อ แต่โรงพยาบาลไม่เชื่อผลตรวจจากโครงการนี้ จึงไม่ทำการรักษา และออกใบส่งตัวให้ โดยยืนกรานให้ตรวจคัดกรองซ้ำกับทางโรงพยาบาล ซึ่งผลออกมาไม่ตรงกับผลการตรวจก่อนหน้านี้ จึงให้รอไปอีก 6 เดือน เพื่อตรวจคัดกรองซ้ำเป็นครั้งที่ 2 สร้างความกังวลใจให้กับเธอเป็นอย่างมาก เพราะอาการป่วย อาจจะเข้าสู่ระยะลุกลาม และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ผลการตรวจคัดกรองสาวโรงงานอีก 4,200 คน ในโรงงานแห่งเดียวกันนี้ พบว่า มี 3 คนที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น และอีก 44 คน อยู่ในระยะที่กำลังจะป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งเป็นอัตราเสี่ยงที่สูงกว่าประชากรหญิงทั่วไปถึง 3 เท่าตัว

สอดคล้องกับข้อมูลของที่ปรึกษาภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า หญิงไทยวัยทำงานมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงวันละ 15 คน โดยระบบประกันสังคม กำลังจะทำให้สถิตินี้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการส่งเสริมป้องกันโรค เหมือนกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงไม่สามารถทำการตรวจคัดกรองได้ ส่วนโรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ประกันตน ก็ไม่มีความพร้อมในการรักษา บ่ายเบี่ยงการส่งต่อ เพื่อทำการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แม้ว่าผู้ประกันตนจะนำผลการตรวจคัดกรองไปยื่นต่อโรงพยาบาลก็ตาม

ขณะที่งานวิจัยของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ชัดว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก ที่ใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษา มีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นักวิชาการ และภาคีเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงเรียกร้องให้ รัฐบาลขยายนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุุนสุขภาพให้ครอบคลุมผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยในขณะนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง