ภาพยนตร์สะท้อนอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ขาดหายไป
ฉากทหารบุกเข้าควบคุมเชื้อพระวงศ์คนสำคัญกลางงานเลี้ยง ที่ผู้สร้างจงในสอดแทรกลงไปนอกเหนือบทประพันธ์ในภาพยนตร์เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ไม่เพียงสะท้อนภาพบ้านเมืองยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยังปูพื้นให้เห็นถึงความไม่ลงรอยในวันข้างหน้าของ ยุพดี ม่ายสาวหัวสมัยใหม่ที่เป็นตัวแทนฝ่ายเสรี และ พะโป้ นายห้างปางค้าไม้ตัวแทนความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด สองตัวละครสำคัญที่สะท้อนอุดมการณ์การเมืองจากนิยายของ มาลัย ชูพินิจ นักเขียนหัวก้าวหน้าเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว คือภาพที่ถูกนำมาเสนออีกครั้งผ่านภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในยุคนี้
ความไม่พอใจในนโยบายรัฐบาลนำไปสู่การเดินขบวนคัดค้าน จนที่สุดต้องปะทะกับกองกำลังฝ่ายรัฐ เหตุการณ์สำคัญที่เป็นไคลแม็กซ์ของ อินทรีแดง ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ไทยฉบับปี 2553 คือภาพที่เห็นได้บ่อยครั้งภาพยนตร์สะท้อนสังคมการเมืองไทย แต่ตลอด 80 ปีที่ผ่านมานอกจากภาพยนตร์สั้นที่ฉายในวงแคบ กลับไม่มีภาพยนตร์ไทยเรื่องใดสะท้อนอุดมการณ์การเมืองประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง กลับวนเวียนอยู่กับการผลิตซ้ำความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผ่านบทบาทของแต่ละฝ่ายที่ถูกสมมุติให้เป็นตัวดี และตัวร้ายบนจอเงิน
80 ปีนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปัญหาทางการเมืองยังอยู่คู่กับสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้ อาจทำให้หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ถึงความเป็นประชาธิปไตย ความหวังในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านสื่อบันเทิงใกล้ตัวอย่างภาพยนตร์ จึงเป็นอีกหนทางในการสร้างความตระหนักให้สังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง จนอาจหลงลืมความเสมอภาคอันเป็นแนวคิดแท้จริงของระบอบประชาธิปไตย