ส่งออกเดือนพฤษภาคมโต 7.7% ขาดดุลการค้า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายพชรพจน์ นันทรามาศ และ นายธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล จากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่ากระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 20.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.7%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 22.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 18.2%YOY ส่วนดุลการค้าขาดดุล 1.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประมาณการไว้ การส่งออกกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม โดยการส่งออกไปยุโรปและญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จุดเด่นอยู่ที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวถึง 11%YOY ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวจนใกล้ระดับปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง 112%YOY
แต่การส่งออกสินค้าเกษตรยังหดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง 15.1%YOY ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคายางพาราที่ลดลงกว่า 25%YOY ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยลดลงถึง 27%YOY นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกข้าวยังลดลงต่อเนื่องราว 29%YOY จากปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลง
การนำเข้าสินค้าทุนยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง การนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤษภาคมขยายตัวถึง 40.7% สะท้อนให้เห็นว่ายังมีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายอยู่อีกจำนวนมาก
ขาดดุลการค้าจากทองคำ หากไม่รวมทองคำการขาดดุลการค้าของไทยจะอยู่ที่ 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
ความเสี่ยงหลักมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ถึงแม้ว่าตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยโดยรวมในเดือนพฤษภาคมจะดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่การส่งออกไปยังประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรป เช่น สเปนและอิตาลีหดตัวลงอย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจรวมถึงปัจจัยเสี่ยงในระบบสถาบันการเงินของยูโรโซนอย่างใกล้ชิด