อดีต ปธ.การนสพ. ย้ำจุดยืนวิชาชีพคนหนังสือพิมพ์ ทำหน้าที่ต้องทบทวนตัวเองตลอดเวลา
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มีการจัดเสวนา “ย้อนอดีต สู่ปัจจุบัน มุ่งอนาคต คนหนังสือพิมพ์” เนื่องในวันครบรอบ 15 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยมีอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ สมัยที่ 1 – 6 และ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์สมัยปัจจุบันเข้าร่วม ประกอบด้วย นายมานิจ สุขสมจิตร นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร นางบัญญัติ ทัศนียะเวช นายสุวัฒน์ ทองธนากุล และนายจักรกฤษ เพิ่มพูล นอกจากนี้ยังได้มีการมอบรางวัล “บทบรรณาธิการดีเด่น” หนังสือพิมพ์ส่วนกลาง หนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค และหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ
นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ สมัยที่ 1 และ 2 กล่าวว่า คนที่ทำงานสื่อมวลชนต้องยึดจริยธรรม เป็นเกราะป้องกันการทำงานไม่ให้ใครมาย่ำยี โดยในต่างประเทศอาชีพสื่อมวลชนได้รับการเชิดชูว่า เป็นอาชีพที่มีเกียรติ แต่ในประเทศไทย ตนไม่ทราบว่าอยู่ลำดับใด แต่เคยได้ยินคนพูดเล่นว่า อาชีพนักข่าว ต่ำกว่าอาชีพ รถไฟ เรือเมล์ ยี่เก ตำรวจ เสียอีก ส่วนด้านการทำหน้าที่ของสภาการหนังสือพิมพ์ ของการเป็นองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ นับตั้งแต่ได้มีการก่อตั้งได้มีบุคคลทั้งประชาชน ตำรวจสันติบาล และรัฐมนตรี เข้ามาร้องเรียนร้องทุกข์ต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติให้ตรวจสอบในจริยธรรมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก
“ผมมองว่าตอนนี้ นักข่าวรุ่นใหม่ ห่างเหินกับโรงพิมพ์ และบางครั้งโรงพิมพ์ ได้ทำร้ายนักข่าว ด้วยการส่งนักข่าวกระดูกอ่อน ที่เพิ่งจบใหม่ไปสัมภาษณ์ นักการเมืองเขี้ยวลากดิน บางครั้งก็ไม่ทันนักการเมือง หรือ โดนนักการเมืองถามตอกหน้าหงาย ส่วนตัวผมมองว่านักข่าวที่จะถูกส่งไปทำข่าวการเมือง ต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ทำข่าวมาแล้วอย่างน้อย 10ปี การส่งไปทำหน้าที่ในลักษณะนี้เหมือนเป็นการทำร้ายนักข่าว คนที่ทำข่าวการเมืองได้ไม่ใช่เด็กจบใหม่ ผู้สื่อข่าวการเมืองต้องผ่านงานมาอย่างน้อย 10 ปี” นายมานิจ กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ สมัยที่ 4 กล่าวว่า ปัจจุบันอาชีพสื่อมวลชนมักพูดแต่เรื่องของความมีชื่อเสียง โดยไม่มีใครพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่ต้องทำหน้าที่เสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง รายงานข่าว ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นวิทยาลัยให้ความรู้ และเป็นเหมือนมโหรสพเพื่อให้ความบันเทิง แต่ด้วยของการปรับเปลี่ยนบริบททางสังคม ได้พบปรากฎการณ์ของสื่อมวลชนไม่สามารถแยกข้อเท็จจริงออกจากความเห็นและการนำตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับข่าวไม่ได้
“ผมมองว่าคนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนต้องทบทวน และตระหนักในการทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับพระที่ต้องทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เราเป็นสื่อสาธารณะ อย่าคิดว่าเงินลงทุนทำสื่อเป็นของเรา เราจะทำอะไรก็ได้ สื่อต้องมีความรับผิดชอบและยึดมั่นในจริยธรรม ในปัจจุบันสื่อมวลชนถูกด่าว่าเป็นจุดสร้างความฉิบหาย และความหายนะให้กับประเทศ เราปฏิเสธไม่ได้ แต่เราต้องทำทุกอย่างไม่ให้ใครเอาน้ำเสียมาใส่ในท่อประปา เราต้องรักษาน้ำดีไว้ให้ได้ ความเป็นสื่อคือต้องเป็นท่อน้ำประปา ไม่ใช่ท่อน้ำทิ้ง”นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นางบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ สมัยที่ 5 คนที่ 1 กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องรายงานสถานการณ์ต่างๆ บนข้อเท็จจริงและยึดมั่นใจจริยธรรมของวิชาชีพ สุจริต ซื่อตรงและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ สังคม และประชาชน โดยไม่อิงแอบกับพรรคการเมืองใด
“ในวันนี้มีสื่อขึ้นมาหลากหลาย มีกลุ่มคน บุคคล สามารถสร้างสื่อขึ้นมาเองได้ โดยสื่อ จะมี 2 ลักษณะ คือ สื่อแท้ กับ สื่อเทียม ซึ่งสื่อเทียม มักสร้างจากกลุ่มคน ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน มักเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ไม่แน่นอน มาแล้วก็ไป ต่างจากสื่อแท้ที่คงอยู่ โดยเป็นสื่อ ที่ทำหน้าที่อย่างแท้จริง ยึดมั่นในวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์”นางบัญญัติ กล่าว
ทางด้านนายสุวัฒน์ ทองธนากุล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ สมัยที่ 5 คนที่ 2 กล่าวว่าวงการสื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะมีความก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น แต่หลักการใหญ่ยังต้องเหมือนเดิม คือ สื่อมวลชนมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฎ นำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง มีความเป็นกลาง คือ กล้าชี้ถูกชี้ผิด โดยไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ รวมถึงต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ในวันนี้สังคมคาดหวังความเป็นสื่อ สามารถเข้าถึงสื่อได้หลากหลาย สามารถเลือกหาสื่อน้ำดีได้มากกว่าอดีต ดังนั้นการทำหน้าที่และการรายงานข่าวต้องเป็นการตามหลักของการทำหน้าที่สื่อมวลชน
“ผมมองว่ามีโจทย์ที่ต้องทำ คือ องค์กรสื่อ สมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ องค์กรที่เป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ รวมถึงนักข่าว คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องทำงานอย่างมีคุณค่าในเชิงอุดมคติ และทางการตลาด ให้นักข่าวและหัวหน้าข่าว ตระหนัก ทบทวน ฝึกฝนอย่างไรในการทำหน้าที่ ให้ทำหน้าที่พรุ่งนี้ ดีกว่าวันนี้” นายสุวัฒน์ กล่าว
ส่วนนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์คนปัจจุบัน กล่าวว่า คนทำหนังสือพิมพ์ปัจจุบันต้องทำให้ได้รอบด้าน ทำทุกเรื่องให้เป็น ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างมาก ทั้งนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการละเมิดจริยธรรมมากขึ้น โดยผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนต้องไม่ลืมเป้าหมายหลักของคนเป็นนักข่าว คือ อุดมการณ์ ของการเป็นสื่อมวลชนที่ยึดถือหลักแห่งจริยธรรมในวิชาชีพ ถึงแม้บริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างใด หลักจริยธรรมสื่อไม่เปลี่ยนแปลงตาม เพราะเป็นหลักสำคัญของการทำหน้าที่ของวิชาชีพสื่อ
“องค์กรสื่อปัจจุบัน ถือว่าเป็นสถาบันทางธุรกิจ ดังนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก เมื่อสื่อมาเป็นเรื่องทางธุรกิจต้องมีการลงทุนมาก และมีความคาดหวังว่าผลประกอบการต้องมีกำไร ดังนั้นข่าวที่เห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ต้องเป็นข่าวที่ขายได้ ส่วนข่าวที่มีความรับผิดชอบมักจะเดินไปด้วยกันไม่ได้ สำหรับนักศึกษาที่จะมาเป็นนักข่าว ผมอยากฝากไปยังสถาบันการศึกษาว่า ขอให้สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีจริยธรรมด้วย”
นายจักร์กฤษ กล่าว
มอบรางวัล “บทบรรณาธิการดีเด่น”
ในการจัดงานเนื่องในวันครบรอบ 15 ปีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ บทบรรณาธิการดีเด่น ประจำปี 2554 โดยประเภทประเภทหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง ที่ได้รับรางวัลบทบรรณาธิการดีเด่น ได้แก่ “อย่าสำลักประชานิยม จนลืมความจริง” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, รางวัลชมเชยอันดับหนึ่ง “พลิกวิกฤตน้ำเป็นโอกาส” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และรางวัลชมเชยอันดับสาม “คอรัปชั่นทำให้บ้านเมืองรุ่งเรืองได้จริงหรือ” จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ประเภทหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค รางวัลบทบรรณาธิการดีเด่น ได้แก่ “คุณภาพอากาศภาคเหนือกลับมาวิกฤตอีกครั้งแล้ว” หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ จังหวัดเชียงใหม่, รางวัลชมเชยอันดับหนึ่ง “พระอัจฉริยะภาพในหลวง” หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จังหวัดเพชรบุรี และรางวัลชมเชยอันดับสอง “เสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” จากหนังสือพิมพ์ประชาคม จังหวัดอุดรธานี
หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติที่ได้รับรางวัลบทบรรณาธิการ(บทนำ) ดีเด่น ได้แก่ เรื่อง “เปลี่ยนปัญหาสู่ทางออก” หนังสือพิมพ์บ้านกล้วย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, รางวัลชมเชยอันดับหนึ่ง “ปัญหาเด็กกลับไม่เล็กอย่างที่คิด” หนังสือพิมพ์หอข่าว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และรางวัลชมเชยอันดับสอง “ต้นกล้าประชาธิปไตยในตัวเรา” หนังสือพิมพ์รังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต