ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญวันแรก "ฝ่ายผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง" ต่างมุ่งประเด็น "ข้อเท็จจริง-เจตนาแฝง"

5 ก.ค. 55
14:10
14
Logo Thai PBS
ไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญวันแรก "ฝ่ายผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง" ต่างมุ่งประเด็น "ข้อเท็จจริง-เจตนาแฝง"

ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญ และ เดินหน้าพิจารณาตามคำร้อง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเริ่มต้นด้วยการแจ้งกรอบการวินิจฉัยรวม 4 ประเด็น พร้อมกับการลดเงื่อนไขความเคลือบแคลงในบทบาทหน้าที่ของตุลาการฯ

  

<"">
  
<"">

เพื่อให้เกิดความกระจ่างก่อนการแถลงด้วยวาจา และ เบิกความพยานในฝ่ายผู้ร้องรวมถึงการซักค้านในนัดแรกวันนี้ ( 5 ก.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ชี้แจงกรอบการพิจารณาของศาล คือ กรณีของขอบเขตอำนาจในการรับคำร้องตามมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแก้มาตรา 291เพื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีการให้จัดตั้ง ส.ส.ร. และ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีลักษณะหรือการกระทำล้มล้างการปกครองหรือไม่

และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาด้วยว่า เจตนาในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการที่เกี่ยวข้องมีแนวทางล้มล้างการปกครอง หรือไม่ และ ข้อสุดท้าย คือ การพิจารณาในการกระทำที่เกิดขึ้นว่าเชื่อมโยงไปถึงความผิดยุบพรรคการเมืองหรือไม่ ทั้งหมดคือกรอบการวินิจฉัยคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิเคราะห์และตัดสินคดี

ไม่เพียงแค่กรอบการวินิจฉัยที่ต้องชัดเจนภาพลักษณ์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีเป็นเหตุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ใน 3 คน ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดี คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล

การแถลงด้วยวาจา,การเบิกความพยานและการซักค้านในนัดแรกวันนี้พอจะเห็นได้ถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ซึ่งบริบททั้งหมดจะเห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเน้นย้ำและหักล้างกันด้วยคำว่า เจตนาและปรากฎการณ์ในข้อเท็จจริง โดยฝ่ายผู้ร้องชี้ให้เห็นถึงเจตนา ทั้งกระบวนการแก้ และ บุคคลแวดล้อม ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง ระบุว่า เป็นการคาดคะเน,จินตนาการ และ การคิดไปเอง ซึ่งทั้งหมดยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริง

  

<"">
  
<"">

นอกจากถ้อยแถลงด้วยลายลักษณ์อักษร แถลงด้วยวาจา หรือ การเบิกความพยาน ในกระบวนการไต่สวนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนำมาพิเคราะห์และประมวลเป็นคำวินิจฉัยแล้ว บริบทแวดล้อมยังมีเป็นประเด็นประกอบที่สำคัญอีกด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ยืนยันว่า จะรับคลิปเสียงคล้ายประธานรัฐสภาที่ผู้ร้องยื่นเพิ่มเติมไว้พิจารณาหรือไม่ หากแต่ว่าคลิปเสียงนี้ถูกตั้งข้อสังเกตและกลายเป็นกระแสไม่น้อย และไม่เพียงจะเกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ยังสะท้อนภาพทางการเมือง แม้นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯจะฉวยประเด็นไปอ้างอิงว่า เนื้อความโดยสรุปทำให้รับทราบได้ว่า ประธานรัฐสภาคือผู้ตัดสินใจก็ตาม

หากแต่ผลย้อนกลับให้รับรู้ได้ว่า ใครคือผู้มีส่วนได้เสียกับการแก้รัฐธรรมนูญ หรือ การเสนอร่างกฎหมายปรองดอง ยังไม่นับรวมบริบทแวดล้อม กรณีคลิปภาพ และ เสียงของบุคคลอื่นที่ผู้ร้องนำไปยื่นต่อศาล เพื่อชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันต่างมีพฤติกรรมและเจตนาเดียวกัน

นัดแรกของการไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญ นับว่า ต่างฝ่ายต่างงัดแนวทางข้อต่อสู้ออกมาชี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นในข้อเท็จจริง วันพรุ่งนี้ ( 6 ก.ค.) คงต้องติดตามกันอีกครั้งว่า ฝ่ายผู้ถูกร้องจะเบิกความพยานและซักค้านประเด็นใด และ ใครจะมีน้ำหนักมากกว่ากันอีกวันหนึ่ง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง