ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายผู้ถูกร้อง วันนี้

การเมือง
6 ก.ค. 55
03:17
13
Logo Thai PBS
ศาลไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายผู้ถูกร้อง วันนี้

ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญ นัดแรก เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) ต่างฝ่ายต่างหาแนวทางข้อต่อสู้ออกมา ชี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นในข้อเท็จจริงส่วนในวันนี้ ฝ่ายผู้ถูกร้องจะเบิกความพยานและซักค้าน

การไต่สวนคดีแก้รัฐธรรมนูญ นัดแรก เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) ศาลรัญธรรมนูญ เริ่มการแถลงด้วยวาจา,การเบิกความพยานและการซักค้านในนัดแรกซึ่งพยานฝ่ายผู้ร้อง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. สรรหา ขึ้นให้การต่อศาลฯเป็นคนแรก โดยกล่าวว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้ เพราะเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการล้มล้างระบอบ ประชาธิปไตย ถึงแม้สิ่งที่คาดการณ์ยังไม่เกิดขึ้น แต่ดูจากพฤติกรรมแล้วเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจจะเป็นภัยในอนาคต

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวบนบัลลังก์ ว่ามีพยานฝ่ายผู้ร้องขึ้นเบิกความ 7 ปาก ในคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และมีเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งศาลจะรับไว้พิจารณารวมกัน และวันนี้ (6 ก.ค.) จะเป็นการไต่สวนของพยานผู้ถูกร้อง เริ่มต้นในเวลา 09.00 น.

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ผู้แทนฝ่ายผู้ถูกร้อง ใช้ช่วงเวลาของการแถลงด้วยวาจาเมื่อวานนี้ เน้นย้ำเจตนาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตอบโต้ว่าความกังวลที่ถูกระบุว่า เป็นการล้มล้างประชาธิปไตย เป็นความตื่นตระหนกที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น

ด้านนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวบนบัลลังก์ว่า ศาลได้กำหนด ประเด็นในการพิจารณาวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็น คือ อำนาจฟ้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง, มาตรา 291 จะสามารถยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่, การแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และหากมีการกระทำดังกล่าว เป็นเหตุให้ต้องมีการยุบพรรคหรือไม่

ขณะที่นายจรัล ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรมนูญ ซึ่งร่วมพิจารณาไต่สวนในช่วงเช้า ได้ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย หลัง นายชูศักดิ์คัดค้าน ว่า นายจรัญ เคยเป็นอดีต ส.ส.ร. ปี 2550 ซึ่งเคยให้ความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง โดยตุลาการอนุญาตให้นายจรัล ถอนตัวจากการเป็นองค์คณะในคดีนี้เพื่อความสบายใจ

สำหรับการถอนตัวครั้งนี้ นายจรัล ระบุว่า จะส่งผลให้ขณะนี้องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลือ 8 คน ซึ่งต้องยอมรับว่า อาจมีปัญหาในการลงมติ ด้วยจำนวนที่เป็นเลขคู่ เพราะหากตุลาการมีมติเท่ากัน 4 ต่อ 4 เสียง ก็จะติดปัญหา หรือเข้าเดดล็อกได้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดเรื่องนี้ในการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง