ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สพฐ.ร่วมมือไจก้า จัดทำหลักสูตรเตรียมความพร้อมเผชิญภัยพิบัติ

สังคม
8 ก.ค. 55
14:22
16
Logo Thai PBS
สพฐ.ร่วมมือไจก้า จัดทำหลักสูตรเตรียมความพร้อมเผชิญภัยพิบัติ

สถานการณ์ภัยพิบัติในประทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม และแผ่นดินไหว ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับองค์การไจก้า ประเทศญี่ปุ่น เร่งจัดทำหลักสูตรเตรียมความพร้อมเผชิญภัยพิบัติและจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียน โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในทุกภูมิภาคได้ฝึกซ้อม เพราะการให้ความรู้และการฝึกซ้อมบ่อยๆ จะช่วยให้นักเรียนมีทักษะและรู้จักวิธีการเอาชีวิตรอด

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ องค์การ ไจก้า ประเทศญี่ปุ่น จัดทำหลักสูตรการเตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นใน จ.ลำปาง ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ เพราะตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนเถิน เสี่ยงแผ่นดินไหว และแผ่นดินถล่ม จึงถูกเลือกเป็นพื้นที่นำร่องหลักสูตรฯ

โดยนักเรียน ร.ร.บ้านปงสนุก อ.เมือง จ.ลำปาง ร่วมกันฝึกซ้อมตามหลักสูตรการเตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งมีแนวปฏิบัติเบื้องต้น คือ ทันทีที่สัญญาณเตือนภัยดังขึ้น นักเรียนและครูจะหลบเข้าไปใต้โต๊ะเรียน จากนั้นทิ้งช่วงประมาณ 5 นาที หัวหน้าห้องจะนำเพื่อนๆ ออกจากห้องเรียน โดยตั้งแถว นับจำนวน และลงจากอาคารเรียนพร้อมกันเพื่อมุ่งหน้าไปยังจุดรวมพลที่สนามหน้าโรงเรียน

นอกจากนี้ ยังมีการคลานต่ำ ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก และใช้ถุงครอบศีรษะเมื่ออากาศหมด การฝึกดับเพลิงโดยใช้กระสอบผ้าชุบน้ำ และเครื่องดับเพลิง ช่วยฝึกทักษะการเอาชีวิตรอดและระงับเหตุไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังแผ่นดินไหว รวมถึงการฝึกเดินบนสะพานเชือก สะพานไม้ ในกรณีที่เส้นทางถูกตัดขาดจากดินโคลนถล่ม ก็นำมาเป็นฐานการเรียนรู้ ซึ่งนักเรียนที่เข้าร่วมฝึกซ้อม บอกว่า เป็นประโยชน์ ที่จะสามารถช่วยเหลือตัวเอง และถ่ายทอดทักษะไปสู่ครอบครัว

นายสมบัติ สุทธิพรมณีวัฒน์ ผู้อำนวยการ สพป.ลำปาง เขต 1 มองว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นช่วยกระตุ้นให้นักเรียน ครู และผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมเกิดการตื่นตัว เพื่อที่ทุกโรงเรียนจะนำแนวทางเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติไปใช้ โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องจัดกิจกรรมฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ขณะที่นายโอโนเคงะ จุน ผู้เชี่ยวชาญองค์การไจก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งติดตามการฝึกซ้อมของนักเรียนมาโดยตลอด ยอมรับว่า ไทยจัดสถานการณ์ได้อย่างสมจริง ช่วยให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ง่าย พร้อมกล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติในไทยที่เพิ่มขึ้น หลายกรณีมีสิ่งบอกเหตุ เช่น ฝนที่ตกหนักในปริมาณมากๆ จะส่งผลให้น้ำท่วมและเกิดดินถล่ม ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ แผ่นดินไหว เพราะไม่มีสิ่งบอกเหตุและไม่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า/ การฝึกซ้อมเป็นประจำ จึงมีความจำเป็นเพื่อให้เกิดทักษะการเอาตัวรอด จึงเสนอให้รัฐบาลไทย เตรียมพร้อมระบบการสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุ จัดทำแผนอพยพให้มีประสิทธิภาพ และฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย มีความพร้อมเผชิญเหตุอย่างทันท่วงที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง