วิเคราะห์ 4 แนวทางในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ฝ่ายผู้ร้อง 5 คนเตรียมยื่นคำแถลงปิดคดีแก้รัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ ( 11 ก.ค.) ในเวลา16 .30 น.โดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า คำแถลงปิดคดีจะเน้นย้ำ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จะต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่ถือเป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกันจะชี้ให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทย กลุ่ม นปช. และ บุคคลแวดล้อมตามพยานหลักฐานที่เป็นคลิปภาพและเสียง มีเจตนาของการล้มล้างการปกครองเหมือนกัน โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาอยู่ใต้อาณัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง นายวัฒนา เซ่งไพเราะ หัวหน้าทีมกฎหมายประธานรัฐสภา และ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ย้ำตรงกันว่า คำแถลงปิดคดีของรัฐบาล รัฐสภาและพรรคเพื่อไทย จะส่งศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15.00 น.วันพรุ่งนี้ โดยสาระสำคัญจะต้องชี้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภา และการดำเนินการถือว่าไม่ขัดต่อมาตรา 68 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในหมวดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
และการแก้มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งส.ส.ร. คือการใช้อำนาจของส.ส.และส.ว.ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ส่วนอำนาจการวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ บัญญัตไว้ชัด ว่าประธานรัฐสภา จะต้องตั้งคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณาด้วย
ผู้ร้องและผู้ถูกร้องต่างออกมาแสดงความเชื่อมั่นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในทิศทางที่หลากหลายออกไป หากแต่เมื่อเทียบกับกรอบการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4 ประเด็น เชื่อได้ว่าจะมีแนวทางหลัก 2 ทางและแนวทางย่อยอีก 2 แนวทาง
แนวทางหลัก แนวทางแรก คือ การวินิจฉัย “ยกคำร้อง”จะมีด้วยกัน 3 เหตุผล คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยเสียงที่เท่ากัน,การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ขัดมาตรา 68 และเหตุผลสุดท้ายคือข้อเท็จจริงไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
แนวทางหลัก แนวทางที่ 2 คือ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 ด้วยเหตุที่รัฐสภาใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและถือเป็นการล้มล้างการปกครอง เพราะการแก้ มาตรา 291 โดยรัฐธรรมนูญให้แก้รายมาตราและต้องแก้ด้วยอำนาจของ ครม.ส.ส.และส.ว. ไม่ใช่การตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ
และเมื่อวินิจฉัยว่ากระทำผิดจะอาจต้องมีแนวทางการวินิจฉัยย่อมออกไป 2 แนวทางด้วยกันค่ะ คือ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ขัดมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่แนวทางแรกจะไม่ถึงขั้นยุบพรรคการเมือง เพราะพฤติการณ์ไม่ได้ร้ายแรง และยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และ การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.
แต่แนวทางที่ 2 อาจถึงขั้นต้องยุบพรรค หากเชื่อได้ว่า พฤติการณ์ร้ายแรง โดยส่อเจตนาล้มล้างการปกครอง โดยเฉพาะเมื่อต้องพิจารณาคู่ขนานไปกับคลิปพยานแวดล้อมที่ฝ่ายผู้ร้องยื่นต่อศาล ขณะที่เดียวกันชี้ได้ว่า ส.ส.ลงมติด้วยนโยบายของพรรค
หากคิดตามสูตรวินิจฉัยแบบ 2 หลัก 2 ย่อย ยังมีตอนที่ 2 สำหรับคดีแก้รัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจสมาชิกรัฐสภาในการลงมติแก้รัฐธรรมนูญและผู้ร่วมพิจารณาหรือแปรญัตติด้วย
วันที่ 2 และ 3 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของกลุ่มพันธมิตรและนายเรืองไกร กรณียื่นถอดถอดสมาชิกรัฐสภา ที่ร่วมลงมติรับหลักการ ลงมติวาระ 2 หรือ รายมาตราของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวม 416 คน และ ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญแปรญัตติ ตลอดจนผู้อภิปรายแปรญัตติ ตามขั้นตอนของรัฐสภา อีก 317 คน
ซึ่งมี ส.ส.ของทุกพรรคการเมือง และ มี ส.ว. บางคนเท่านั้น และ ส.ส.หรือ ส.ว.บางคนในจำนวนนี้กลายเป็นผู้ถูกร้องของทั้ง 2 คดีด้วย และ ทั้งหมดคือตอน 2 ที่ว่า เพราะศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องพิจารณาคู่ขนานไปด้วยหากผลการวินิจฉัยชี้ชัดว่าการแก้รัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68
นอกจากนั้นวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมานายเรืองไกร ยังได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยสั่งยุบพรรคเพื่อไทยพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล รวมถึงขอให้ตรวจสอบ 2 องค์กรอิสระ ประกอบด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนการแก้รัฐธรรรมนูญด้วย
การวิเคราะห์แนวทางการวินิจฉัยอ้างอิงขั้นตอนและกรอบ 4 ประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแถลงไว้มีทั้งที่เป็นบวกและเป็นลบ แต่ไม่ว่าจะบวก ย่อมส่งผลถึงเสถียรภาพและความเชื่อมั่นของรัฐบาลและรัฐสภา