ชาวบ้านใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ไม่มั่นใจระบบเตือนภัยน้ำป่า-ดินโคลนถล่ม
ร่องรอยของน้ำป่าและดินโคลนถล่ม เมื่อปี 2554 บริเวณหลังโรงเรียนบ้านห้วยปูลิง ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่เป็นสิ่งเตือนใจให้ครูและชาวบ้านต้องเฝ้าระวังอันตรายเมื่อฝนตกหนัก เพราะน้ำอาจกัดเซาะ ทำให้ดินทรุดตัวได้
เครื่องเตือนภัยน้ำป่าดินโคลนถล่มที่ติดตั้งในหมู่บ้านห้วยปูลิงที่อยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากยังไม่ได้รับเครื่องเตือนภัยรุ่นใหม่ที่ส่งสัญญาณเตือนด้วยระบบ เอสเอ็มเอส จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ทำให้เกรงว่า จะไม่สามารถเตือนภัยได้ทัน เพราะเป็นพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
พื้นที่อำเภออมก๋อย อยู่ในหุบเขาสูงชัน ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ เกือบ 200 กิโลเมตร และ เป็นหนึ่งใน 243 หมู่บ้านที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำร่องใช้เครื่องเตือนภัยน้ำป่าและดินโคลนถล่มรุ่นใหม่ ที่พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเลกทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกล เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ และ ความชื้นในอากาศ
โดยระบบจะเก็บข้อมูลส่งไปยังแม่ข่ายทุก ๆ 5 นาที ก่อนประมวลผลแจ้งเตือนผ่านระบบ เอสเอ็มเอส ไปยังผู้เกี่ยวข้องเพื่อเตือนชาวบ้านในพื้นที่ แต่ความล่าช้าในการติดตั้งบางจุด และ ระบบสัญญาณที่ยังไม่ครอบคลุมทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจในความปลอดภัย