ย้อนเหตุการณ์ พิจารณาคดี
โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาช่วงเช้าตั้งแต่ 9.30 น.ประชุมเพื่อเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน และในเวลา 14.00 น. จึงจะอ่านคำวินิจฉัยคดี สำหรับที่มา ที่ไปของคดีนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ 5 คำร้อง ที่ผู้ร้อง จาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, ส.ว.กลุ่มหนึ่ง และจากภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการ ที่ยื่นเรื่องให้วินิจฉัย
โดยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 นั้น องค์คณะตุลาการเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้อำนาจรับ 5 คำร้อง ที่ผู้ร้องยื่นเรื่องให้วินิจฉัย โดยอ้างอิงถึงมาตรา 68 ว่าด้วยการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือการได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งเลิกการกระทำได้
ช่วงนั้นแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคดี โดยที่อัยการสูงสุดไม่ได้ส่งคดีมา ได้หรือไม่ แต่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ได้ยืนยันด้วยตัวเองว่า ทำได้ และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เวลาต่อมา อัยการสูงสุดแถลงว่า คำร้องไม่เข้าข่ายตามผู้ร้องกล่าวหา และการแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภา อัยการจึงไม่ส่งต่อคดีให้ศาลรัฐธรรมนูญ
การไต่สวน และแถลงคดีด้วยวาจา มีขึ้นวันที่ 5 - 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวางกรอบพิจารณาไว้ 4 ประเด็น คือ ขอบเขตอำนาจในการรับคำร้อง ตามมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญ, การพิจารณาว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยการเสนอแก้มาตรา 291 เพื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์ และวิธีการให้จัดตั้งส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีลักษณะหรือการกระทำ ล้มล้างการปกครองหรือไม่, การพิจารณาเจตนาในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ ที่เกี่ยวข้องว่า มีแนวทางล้มล้างการปกครองหรือไม่ และสุดท้าย คือ การพิจารณาในการกระทำที่เกิดขึ้นว่า เชื่อมโยงไปถึงความผิดยุบพรรคการเมืองหรือไม่
ไม่เพียงกรอบ 4 ประเด็นนี้เท่านั้น แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังหารือประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกต ถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีด้วย นั่นทำให้ 1 ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้
ขณะที่กระบวนการไต่สวน เริ่มที่ฝ่ายผู้ร้องก่อน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ศาลเรียกพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายสุรพล นิติไกรพจน์, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร เข้าแถลงคดีด้วยวาจา โดย 2 ใน 7 คน คือนายสุรพล และนายเดชอุดม เข้าเบิกความในฐานะพยานที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
ฝ่ายผู้ร้อง เน้นย้ำถึงการที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติ ให้แก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และชี้ให้เห็นว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่ใช่วิถีตามรัฐธรรมนูญ พร้อมอ้างอิงถึงบุคคลแวดล้อม ทั้งในรัฐบาล และรัฐสภา โดยเฉพาะประธานรัฐสภา ที่มีพยานหลักฐานชี้ว่าไม่เป็นกลางทางการเมือง และมีความใกล้ชิดกับบุคคล หรือพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง และผู้ต้องคดีหมิ่นสถาบัน โดยเชื่อว่าเป็นขบวนการที่มีเจตนาเดียวกัน
ขณะที่วันที่ 6 เป็นคิวของฝ่ายผู้ถูกร้อง คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ หรือผู้แทน นายวัฒนา เซ่งไพเราะ, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล,นายโภคิน พลกุล,นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ, นายอุดมเดช รัตนเสถียร, นายสามารถ แก้วมีชัย, นายชุมพล ศิลปอาชา และนายภราดร ปริศนานันทกุล โดยบุคคลทั้งหมดเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เว้นเพียงนายโภคิน ที่เป็นมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และนายวรวัจน์ ซึ่งเป็นผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี
โดยการชี้แจง และตอบข้อซักค้าน พยายามเน้นย้ำถึงอำนาจโดยชอบของรัฐสภาต่อการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และตามกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสไว้ให้คณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว.และประชาชนเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ แม้มีคำยืนยันไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ แต่ยอมรับว่า อาจพิจารณาปรับบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และ ชี้แจงว่า การทำประชามติจะเกิดขึ้น หลังมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หลังแถลงด้วยวาจา แถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร และส่งเป็นเอกสารต่อศาลแล้ว ขั้นตอนฟังคำวินิจฉัยวันนี้ (13 ก.ค.55) จะเริ่มด้วยการประชุมขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน จะมีการพิจารณาวาระปกติในคดีอื่น อีก 3 คดี ก่อนจะมีการพิจารณา 5 คำร้อง ซึ่งระหว่างนี้ องค์คณะตุลาการจะนำคำร้องของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ขอให้ชะลอการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนเข้าหารือด้วย
และการอ่านคำวินิจฉัยกลางจะเริ่มในเวลา 14.00 น. โดยคาดว่า จะใช้เวลาอ่านไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ขึ้นอยู่กับข้อมูลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนด้วย