ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มติศาลรัฐธรรมนูญให้ยก 5 คำร้อง เหตุข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ-คาดคะเนล่วงหน้า

การเมือง
13 ก.ค. 55
11:53
29
Logo Thai PBS
มติศาลรัฐธรรมนูญให้ยก 5 คำร้อง เหตุข้อเท็จจริงไม่เพียงพอ-คาดคะเนล่วงหน้า

ศาลรธน.มีมติให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง โดยอ้างว่า ผู้ร้องไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอและเป็นการคาดคะเนล่วงหน้าว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ขณะที่การแก้ไข รธน.ตามมาตรา 291 ก็เป็นไปตาม รธน. 2550

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.45 น.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญตามที่มีผู้ร้องหรือไม่ โดยประเด็นแรก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่า มีอำนาจรับคำร้องวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรค 2 โดยสามารถยื่นได้ทั้ง 2 ทางคือ 1.ยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2. ยื่นผ่านอัยการสูงสุด

ประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ผ่านการทำประชามติของประชาชน ดังนั้นจึงควรทำประชามติเพื่อขอความเห็นจากประชาชนว่า ควรมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ หรือ อาจจะทำการแก้ไขรายมาตรา

ส่วนประเด็นที่ 3 การพิจารณาว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแก้มาตรา 291 เพื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์ และ วิธีการให้จัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีลักษณะหรือ การกระทำ ล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ในยื่นตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 291 ไม่เป็นการล้มลางการปกครอง เพราะการแก้ไขมาตรา 291 รายมาตรา เป็นการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ 2550 และที่ผู้ร้องอ้างถึงการล้มล้างการปกครองนั้นเป็นการคาดคะเนล่วงหน้า และไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้เชื่อต่อการกระทำดังกล่าว รวมถึงแม้สภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองยังมีประธานรัฐสภา และ สภา สามารถยับยั้งการกระทำดังกล่าวได้ รวมถึงผู้ที่ทราบการกระทำดังกล่าวสามารถยื่นต่ออัยการสูงสุดได้

ประเด็นที่ 4 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อไม่กระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ดังกล่าว

ลำดับเหตุการณ์คดีแก้ไข รธน.

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ 5 คำร้อง ที่ผู้ร้อง จาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, ส.ว.กลุ่มหนึ่ง และจากภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการ ที่ยื่นเรื่องให้วินิจฉัย โดยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 นั้น องค์คณะตุลาการเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้อำนาจรับ 5 คำร้อง ที่ผู้ร้องยื่นเรื่องให้วินิจฉัย โดยอ้างอิงถึงมาตรา 68 ว่าด้วยการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือ การได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งเลิกการกระทำได้

 
ขณะที่การไต่สวน และ แถลงคดีด้วยวาจามีขึ้นในวันที่ 5-6 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวางกรอบพิจารณาไว้ 4 ประเด็น คือ ขอบเขตอำนาจในการรับคำร้อง ตามมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญ,การพิจารณาว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแก้มาตรา 291 เพื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์ และ วิธีการให้จัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีลักษณะหรือการกระทำ ล้มล้างการปกครองหรือไม่, การพิจารณาเจตนาในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ ที่เกี่ยวข้องว่า มีแนวทางล้มล้างการปกครองหรือไม่ และสุดท้าย คือ การพิจารณาในการกระทำที่เกิดขึ้นว่า เชื่อมโยงไปถึงความผิดยุบพรรคการเมืองหรือไม่
 
ไม่เพียงกรอบ 4 ประเด็นนี้เท่านั้น แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังหารือประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกต ถึงการมีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีด้วยทำให้ 1 ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ นอกจากนี้ยังมีกระแสการเรียกร้องให้ตุลาการฯคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ถอนตัวออกจากการพิจารณาคดีด้วย

ขณะที่กระบวนการไต่สวน เริ่มที่ฝ่ายผู้ร้องก่อน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ศาลเรียกพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายสุรพล นิติไกรพจน์, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร เข้าแถลงคดีด้วยวาจา โดย 2 ใน 7 คน คือนายสุรพล และนายเดชอุดม เข้าเบิกความในฐานะพยานที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

ส่วนวันที่ 6 ก.ค.เป็นคิวของฝ่ายผู้ถูกร้อง คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ หรือผู้แทน นายวัฒนา เซ่งไพเราะ, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล,นายโภคิน พลกุล,นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ, นายอุดมเดช รัตนเสถียร, นายสามารถ แก้วมีชัย, นายชุมพล ศิลปอาชา และนายภราดร ปริศนานันทกุล โดยบุคคลทั้งหมดเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เว้นเพียงนายโภคิน ที่เป็นมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และนายวรวัจน์ ซึ่งเป็นผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดีในวันที่ 12 ก.ค.ศาลแพ่งได้ยกคำร้องที่นายวรชัย เหมมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลแพ่งไต่สวนฉุกเฉินเพื่อสั่งให้ระงับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวในวันที่ 13 ก.ค.นี้ไว้ก่อน

หลังแถลงด้วยวาจา แถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร และส่งเป็นเอกสารต่อศาลแล้ว ขั้นตอนฟังคำวินิจฉัยวันนี้ (13 ก.ค.55) จะเริ่มด้วยการประชุมขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน จะมีการพิจารณาวาระปกติในคดีอื่น อีก 3 คดี ก่อนจะมีการพิจารณา 5 คำร้อง 
 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง