คณะนิติราษฎร์ได้ออกแถลงให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และ จัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า การทำหน้าที่ของศาลในช่วงที่ผ่านมามีการขยายเขตแดนอำนาจของตนเองหากเข้าไปก้าวล่วงกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นองค์กรหนึ่งภายในรัฐธรรมนูญ แต่กลับใช้อำนาจเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยการตีความให้ตนเองมีอำนาจรับคำร้องได้โดยตรง รวมถึงการมีคำสั่งชะลอการพิจารณาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จึงถือว่าเป็นการทำหน้าที่ขัดนิติรัฐประชาธิปไตย และเมื่อพิจารณาที่มาขอตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชัดว่า ขาดความยึดโยงกับประชาชน ซึ่งต่างจากศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเสรีทั่วโลก
ขณะที่กระบวนการถอนถอดตุลาการเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง ส.ว. ถึง 3 ใน 5 ดังนั้นคณะนิติราษฎร์จึงเห็นว่า ประชาชนควรใช้อำนาจด้วยการเข้าชื่อ 50,00 รายชื่อ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบเลิกคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้จัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่แทนจนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแล้วเสร็จ
โดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มคณะนิติราษฎร์ เห็นว่า คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องเรื่องการตั้งประเด็น ที่ควรพิจารณาเรื่องการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 เท่านั้น ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะขยายประเด็นการแก้ไขมาตรา291 ซึ่งเมื่อไม่มีการพิจารณาเห็นว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองแล้ว ควรยกคำร้องตั้งแต่แรก และให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามบทบัญญัติ หรือ กระบวนการของรัฐสภา
ทั้งนี้ยังรวมถึงการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ทั้งกรณีเขาพระวิหาร และ การทำรายการอาหารของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นชัดว่า มีความจงใจการใช้อำนาจเพราะตัวบุคคล ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ถูกต้องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ถูกตรวจสอบ หรือแตะต้องไม่ได้
นายวรเจตน์ ยังกล่าวอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีข้อจำกัด 2 ประการ คือ ห้ามแก้ไขการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และห้ามแก้ไขรูปแบบของรัฐ ความหมาย คือ ห้ามเปลี่ยนรูปแบบรัฐเป็นสาธารณรัฐ ห้ามเปลี่ยนรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ และ ห้ามเปลี่ยนระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องของรัฐสภาหากไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแก้ไขมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการตีความวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนการทำประชามติเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร และ คณะรัฐมนตรี ที่จะเห็นสมควร และ คิดว่าการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการจัดทำอยู่ได้กำหนดกระบวนการทำประชามติไว้แล้ว โดยคณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐบาล และ รัฐสภาควรมีความกล้าหาญในการเปิดประชุมสภา และ พิจารณาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญลงมติวาระ 3 ในทันที