ถอดบทเรียนเอชไอเอในต่างประเทศพบผู้มีอำนาจมีมุมมองด้านสุขภาพที่แคบเกินไป
เวทีถอดบทเรียนการขับเคลื่อนเอชไอเอชุมชนในประเทศแคนนาดา ญี่ปุ่น และไทย ของงานประชุมวิชาการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน นางคอลีน คาเมรอน สถาบันนานาชาติคอดดี้ เซนฟรานซิสซาเวียร์ จากประเทศแคนนาดา บอกว่า แคนนาดาเริ่มนำกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) มาใช้เมื่อเกือบ 20ปีที่แล้ว จากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการกระจายอำนาจ และสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน แตกต่างจากไทยที่เริ่มต้นจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิของตัวเอง
คล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่น โดย ศ.ทาคาชิ มิยากิตะ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามาตะ มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง บอกว่า ญี่ปุ่นเริ่มต้นจากการผลักดันแก้ปัญหาการปนเปื้อนของสารปรอทในอ่าวมินามาตะ นำไปสู่การฟื้นฟูเมือง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ และนโยบายสาธารณะใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเองอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ในเวทียังมีการพูดถึงปัญหาการขับเคลื่อนเอชไอเอที่แต่ละประเทศประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะความเข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีอำนาจในการตัดสินใจออกใบอนุญาตโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ยังมีแนวคิดเรื่องสุขภาพในมุมมองที่แคบ และก้าวไปไม่ถึงสุขภาวะในองค์รวม รวมถึงการไม่ยอมรับองค์ความรู้จากภาคประชาชน จึงเห็นร่วมกันว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และนำความรู้จากภาคประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เข้าไปประกอบการพิจารณาอนุมัติการดำเนินงานโครงการพัฒนาต่างๆ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริงเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน