แฟชั่นมุสลิมจากผ้าพื้นเมืองภาคใต้
คงเอกลักษณ์ความเป็นใต้ด้วยการนำลวดลายสถาปัตยกรรมวังเก่าในปัตตานี และ หลังคามัสยิด มาพิมพ์ลงบนผ้า ขณะเดียวกันก็ทำให้ร่วมสมัยมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการสวมใส่ โดยนำมาตัดเย็บเป็นชุดราตรีสั้น จากเดิมที่ใช้นุ่งเป็นผ้าโสร่ง หรือสวมเป็นผ้าคลุมผม คือตัวอย่างแฟชั่นมุสลิมจากผ้าพื้นเมืองภาคใต้ อย่างผ้าปะลางิงของจังหวัดยะลา เปลี่ยนโฉมผ้าโบราณซึ่งสูญหายไปจากการรับรู้ของชาวยะลารุ่นใหม่กว่า 70 ปี นำกลับมาปรับใหม่ให้เป็นที่ต้องการของตลาด
การปักลวดลายบนผ้าคลุมผมสตรีชาวมุสลิมส่วนใหญ่แล้วจะใช้เครื่องจักรปักเย็บลายค่ะ จึงเห็นได้ไม่บ่อยที่ชาวบ้านจะลงมือปักลวดลายด้วยตัวเอง อย่างเช่น กลุ่มสตรีมุสลิม อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ซึ่งทำให้ลวดลายที่ได้มีความสวยงาม ละเอียดอ่อน กว่ามาก
ดอกไม้สีทอง สัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา เป็นที่มาของลวดลายสวยงามบนฮิญาบ หรือผ้าคลุมผมสตรีมุสลิม ตัวอย่างงานฝีมือของกลุ่มสตรีจากอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา สะท้อนความสดใสของผู้หญิงผ่านผลงานที่ทอจากผ้าท้องถิ่น เช่น เกาะยอ และบ้านสะพานปลา จังหวัดสงขลา นอกจากใช้เป็นผ้าคลุมผม ยังประยุกต์ให้เป็นผ้าคลุมไหล่ หรือสามารถนำมาใส่คู่กับชุดราตรีที่ออกแบบให้สามารถแยกชิ้นส่วนได้ตามโอกาสและความชอบของผู้สวมใส่ ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้ผ้าพื้นเมืองมีความทันสมัยและหลากหลายมากขึ้น
การนำผ้าพื้นเมืองทางใต้มาปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงชุดเสื้อผ้า แต่ยังนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างกระเป๋าและรองเท้า เพิ่มความหลากหลายและมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่น ที่ยังคงลวดลายและศิลปะแบบภาคใต้