ภูมิปัญญาปลาดู ของกลุ่มเชื้อสายพวน ในนครนายก
การทำปลาดู หรือปลาร้าสด ต้องนวดตัวปลาจนอ่อนนุ่ม หมักเกลือค้างคืน แล้วคลุกเคล้ากับข้าวเจ้าคั่วบดละเอียด และกระเทียมพริกไทย ทิ้งไว้ราว 20 วัน เพื่อให้รสเปรี้ยวเค็มกลมกล่อมเข้าถึงเนื้อปลา ก่อนหมักลงในไหหรือโอ่งอีก 6-12 เดือน นี่คือภูมิปัญญาโบราณในการถนอมอาหารที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษลาวเชียงขวาง กระทั่งมาอาศัยในแผ่นดินไทยเมื่อช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งถิ่นฐานริมคลองท่าแดง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก และอีกหลายแห่ง
ชาวไทยเชื้อสายพวนยังคงเอกลักษณ์ประเพณี ความเชื่อ ภาษา และอาหารหลักคู่ครัว เช่น ปลาร้า ซึ่งเป็นทั้งกับข้าว และเครื่องปรุงรส พร้อมพัฒนาสูตรอาหารหมักปลาดู โดยเลียนกรรมวิธีจากปลาร้า ต่างกันที่ปลาดูใช้ปลาสดมีรสเปรี้ยวเค็ม ส่วนปลาร้านิยมใช้ปลาตายหมักกับเกลือและข้าวคั่วออกรสเค็มเท่านั้น ขั้นตอนที่ซับซ้อน รวมถึงทางเลือกในการรับประทานที่หลากหลายมากขึ้น จึงเหลือเพียงไม่กี่ครอบครัวที่ยังทำปลาดู เพื่ออย่างน้อยได้แสดงถึงวิถีพื้นบ้านไทยพวน
ปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงเวลาที่ปลาโตเต็มที่ มีรสชาติอร่อย เหลือจากกินยังมีปลาอีกมาก จึงนิยมนำมาทำปลาร้า เป็นภูมิปัญญาของคนลุ่มน้ำอุษาคเนย์ในการเก็บรักษาอาหารไว้กินยามขาดแคลน ชาวไทพวน บ้านสะแกซึง ไม่เพียงถนอมอาหารไว้กินในครัวเรือน แต่การอาศัยในบริเวณที่มีแหล่งน้ำรายรอบ ทั้งคลองท่าแดงและคลองปลายนา จึงมีวัตถุดิบปลาเป็นจำนวนมาก ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งผลิตปลาร้าสำคัญอีกแห่งในนครนายก
แต่ดั้งเดิมชาวพวนแคว้นเชียงขวาง นิยมตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำ เมื่ออพยพมาอยู่ในไทย ก็ยังยึดการทำไร่ทำนา และเห็นการสร้างบ้านเรือนตามแม่น้ำลำคลอง อย่างชาวไทยพวนที่บ้านเกาะหวาย อำเภอปากพลี ยังเห็นวิถีของการโตมากับปลา อยู่กับนา อยู่กับน้ำได้อยู่ รวมถึงวิถีการขุดบ่อล่อปลาตามธรรมชาติค่ะ
เพียงขุดบ่อบริเวณพื้นที่ต่ำสุดของที่นา เป็นที่ดักปลาช่วงหน้าน้ำลงปลายปี ครอบครัวใจผ่องก็จะมีปลาธรรมชาติจากท้องนามาเข้าบ่อนับ 100 กิโลกรัมแหล่งอาหารจากภูมิปัญญานี้ เป็นวิถีชีวิตที่ชาวไทยพวนสืบทอดจากบรรพบุรุษ และยังมีให้เห็นบนผืนนาแทบทุกแห่งที่บ้านเกาะหวาย
แม้วิถีไทพวนจะปรับเปลี่ยนบ้างไปตามยุค แต่ศาลปู่ตายังคงเป็นศูนย์รวมใจให้นึกถึงถิ่นกำเนิดที่จากมา และเป็นขวัญของคนในชุมชน ชาวไทยเชื้อสายพวนที่นี่ ยังมีประเพณีหลายอย่างไม่ต่างจากลาวเชียงขวาง สายใยยึดโยงด้วยวัฒนธรรม ให้เห็นความเป็นเครือญาติอุษาคเนย์