ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หยุดแชร์! พบคลิปเด็กบนรถบัสไม่เกี่ยวโศกนาฏกรรม 23 ศพ


Verify

10 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

หยุดแชร์! พบคลิปเด็กบนรถบัสไม่เกี่ยวโศกนาฏกรรม 23 ศพ

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1703

หยุดแชร์! พบคลิปเด็กบนรถบัสไม่เกี่ยวโศกนาฏกรรม 23 ศพ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากแชร์คลิปวิดีโอฉบับหนึ่งพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า คลิปดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา ที่คร่าชีวิตนักเรียน 20 คน และครู 3 คน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 อย่างไรก็ตามคลิปต้นฉบับนั้นถูกเผยแพร่หลายสัปดาห์ก่อนหน้าโศกนาฏกรรมดังกล่าว โดยเป็นภาพระหว่างการทัศนศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช

แม้เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ทำให้มีครูและเด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้รถบัสขณะกำลังไปทัศนศึกษาจะผ่านมาแล้วกว่า 1 สัปดาห์ แต่ยังคงสร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับผู้ที่ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมีการตรวจสอบพบคลิปที่อ้างว่าเป็นวิดีโอที่บันทึกภาพของเด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆารามขณะอยู่ในรถบัสก่อนเกิดเหตุ ถูกนำมาโพสต์ในหลายช่องทางออนไลน์ ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้น

โพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 แชร์คลิปวิดีโอฉบับหนึ่งที่ฝังข้อความเป็นภาษาพม่าว่า "ครูและนักเรียนไทยก่อนเกิดเหตุไฟไหม้รถบัส" โดยโพสต์ดังกล่าวมียอดรับชมสูงกว่า 499,000 ครั้ง

วิดีโอความยาว 49 วินาทีแสดงภาพนักเรียนสวมชุดพละสีม่วงกำลังเต้นอยู่ตรงทางเดินรถบัส โดยมีผู้ใหญ่นั่งอยู่ทั้งสองฝั่งของรถบัส

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ 2 วันหลังเกิดเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาบนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า เหตุการณ์ดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนไป 23 ราย ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 10 ปีในประเทศไทย

คลิปดังกล่าวถูกแชร์อย่างแพร่หลายพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จในหลายภาษา เช่น ภาษาพม่า  ไทย และ อังกฤษ

อย่างไรก็ตาม จากการค้นหาด้วยคำสำคัญ AFP พบว่าคลิปต้นฉบับถูกเผยแพร่ก่อนเกิดเหตุไฟไหม้รถบัสเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม

AFP พบคลิปเดียวกันนี้ในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 โดยคำบรรยายภาษาไทยเขียนว่า "วันที่ 13 กันยายน 67 ทัศนศึกษา สงขลา รร.บ้านทุ่งขวัญแก้ว จ.นครศรีธรรมราช" (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คลิปต้นฉบับ (ขวา):

ผู้ใช้งานติ๊กตอกบัญชีดังกล่าวชื่อ กาญจนา ฉิมทับ ยืนยันกับ AFP ว่า เธอเป็นผู้ปกครองของนักเรียนคนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอ และเธอถ่ายคลิปดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2567 ระหว่างการเดินทางไปทัศนศึกษาที่จังหวัดสงขลา

"คลิปไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไฟไหม้ค่ะ" เธอระบุ

การค้นหาด้วยคำสำคัญในเฟซบุ๊ก พบเพจเฟซบุ๊กของโรงเรียนบ้านทุ่งขวัญแก้ว ซึ่งเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์และภาพการทัศนศึกษาในวันเดียวกัน (ลิงก์บันทึก)

ส่วนหนึ่งของข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า "คณะครูโรงเรียนบ้านทุ่งขวัญแก้วได้นำนักเรียนและผู้ปกครองเดินทางไปทัศนศึกษา ณ จังหวัดสงขลา ได้แก่ สวนสัตว์สงขลา ชายหาดสมิหลาและวัดแหลมพ้อ ... เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2567"

เด็กที่เสียชีวิตในเหตุไฟไหม้รถบัสเป็นนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งสวมชุดพละสีส้ม (ลิงก์บันทึก)

สำหรับร่างของครูและนักเรียนทั้ง 23 ศพ ของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในการพระราชทานเพลิงแก่ผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้บาดเจ็บ ปัจจุบันยังมีนักเรียนอีก 3 คน ที่อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยแพทย์ระบุว่า อาการทั้ง 3 คน ดีขึ้นตามลำดับ

ข้อมูลจาก AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมเด็กเล็กไฟไหม้รถติดแก๊สคลิปตัดต่อเพจปลอมหลอกลวง
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด