ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จักโศกนาฏกรรมสนามบิน Tenerife อุบัติเหตุทางอากาศร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จักโศกนาฏกรรมสนามบิน Tenerife อุบัติเหตุทางอากาศร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1840

รู้จักโศกนาฏกรรมสนามบิน Tenerife อุบัติเหตุทางอากาศร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

โศกนาฏกรรมสนามบิน Tenerife เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินขนาดใหญ่สองลำพร้อมผู้โดยสารรวมกว่า 600 คนชนกันกลางรันเวย์ด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 583 รายในปี 1977 นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน และเป็นโศกนาฏกรรมที่ปฏิวัติความปลอดภัยทางด้านการบินซึ่งมีผลทำให้การเดินทางทางอากาศมีความปลอดภัยมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน

เครื่องบิน Boeing 747 ของ Pan Am ลำเดียวกับที่อยู่ในเหตุการณ์

เครื่องบินที่อยู่ในเหตุการณ์สองลำนั้นคือ เครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน KLM และสายการบิน Pan Am ซึ่งในวันที่ 27 มีนาคม 1977 มีการ Divert หรือถูกสั่งให้ไปลงจอดชั่วคราวที่สนามบิน Los Rodeos สนามบินขนาดเล็กในหมู่เกาะคานารี (Canary) ของประเทศสเปน อีกชื่อเรียกคือสนามบิน Tenerife จากเดิมที่เครื่องบินทั้งสองต้องบินไปลงจอดที่สนามบิน Gran Canaria แต่ในวันนั้นสนามบิน Gran Canaria ปิดทำการฉุกเฉินเนื่องจากมีการก่อการร้ายวางระเบิดขึ้น และมีความเสี่ยงว่าอาจจะมีระเบิดลูกที่สอง ทำให้เครื่องบินที่มีปลายทางอยู่ที่สนามบิน Gran Canaria ต้องไปลงจอดที่อื่นชั่วคราว และต้องจอดรอที่อื่นชั่วคราวจนกว่าสนามบิน Gran Canaria จะเปิดอีกครั้ง

ในเหตุโศกนาฏกรรมนี้ เครื่องบิน Boeing 747 ทั้งสองลำต้องจอดรอที่สนามบิน Tenerife ซึ่งมีเพียงรันเวย์เดียว ทางขับเดียว และมีพื้นที่จอดเครื่องบินเล็กมาก เนื่องจากสนามบินไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่าง Boeing 747 ถึงขั้นที่เครื่องบินหลายลำต้องจอดบนทางขับแทน จึงไม่สามารถใช้ทางขับเพื่อวิ่งไปที่รันเวย์ได้ตามปกติแต่จะเป็นการขับบนทางวิ่งจากนั้นจึงหันหัวกลับเพื่อขึ้นบิน หรือที่เรียกว่า “Backtaxi”

แผนผังแสดงลักษณะการชนกันของเครื่องบินทั้งสองลำ

กระทั่งเมื่อสนามบิน Gran Canaria กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง จึงทำให้เครื่องบินเริ่มสามารถขึ้นบินเพื่อไปยังปลายทางที่ Gran Canaria ได้ เครื่องบิน Boeing 747 ของ Pan Am ในขณะนั้นพร้อมขึ้นบินแล้ว แต่ไม่สามารถ Taxi ไปที่ทางวิ่งได้เนื่องจากติดเครื่องบิน Boeing 747 ของ KLM ที่กำลังจอดเพื่อเติมเชื้อเพลิงอยู่ ด้วยขนาดของเครื่องบินทั้งสอง ระยะห่างของเครื่องบินทั้งสองจะอยู่ที่เพียงประมาณ 3.7 เมตร เท่านั้น ซึ่งไม่พอที่จะอ้อมได้ ส่วนทางวิ่งอีกทิศทางหนึ่งก็มีเครื่องบินลำอื่นจอดรออยู่ จึงต้องรอให้เครื่องบิน KLM เติมเชื้อเพลิงเสร็จเท่านั้น การเติมเชื้อเพลิงใช้เวลาประมาณ 35 นาที เมื่อพร้อมแล้วจึงเรียกผู้โดยสารกลับมาขึ้นเครื่องบิน แต่การเรียกผู้โดยสารก็ติดปัญหาตรงที่ตามผู้โดยสารบางคนไม่เจอ การขึ้นบินจึงล่าช้าไปอีก การล่าช้านี้ประกอบกับสภาพอากาศบริเวณสนามบิน Tenerife ที่แย่ลงเรื่อย ทำให้พิสัยการมองเห็นนั้นต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ

ภาพแสดงตำแหน่งของเครื่องบินทั้งสองลำก่อนการชนกันกลางทางวิ่ง

เมื่อเครื่องบินทั้งสองพร้อมขึ้นบินแล้ว หอควบคุมได้สั่งให้เครื่องบิน KLM ขับแบบ Backtrack ไปจอดที่อีกฝั่งของรันเวย์แล้วหันหัวกลับเพื่อเตรียมขึ้นบิน ดังนั้น KLM จะได้ขึ้นบินก่อน Pan Am ส่วนเครื่องของ Pan Am นั้นถูกสั่งให้ขับแบบ Backtrack ตามเครื่องบิน KLM ไป แต่ให้ออกจากทางวิ่งที่ทางออกไปทางขับที่ 3 หรือ C-3 เพื่อให้ KLM นั้นขึ้นบิน แต่ด้วยทัศนวิสัยที่แย่ เครื่องของ Pan Am เลยไปออกทางออกที่ C-4 แทน

KLM ได้ Backtrack ถึงจุดขึ้นบินและกลับหัวเพื่อพร้อมขึ้นบินแล้ว ส่วน Pan Am นั้นกำลัง Backtrack ตามมาและกำลังจะเตรียมออกทางออกที่ C-4 แต่เนื่องจากการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างหอควบคุมกับ KLM นั้น KLM ได้ทำการวิ่งขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ทราบว่าเครื่องของ Pan Am ยังอยู่บนทางวิ่ง จนเป็นเหตุให้เครื่องบินทั้งสองลำชนกันด้วยความรุนแรง โดยเครื่องของ KLM ชนเข้ากับ Pan Am ในขณะที่กำลังลอยตัวขึ้นจากรันเวย์ จากนั้นจึงตกกระแทกพื้นแล้วไถลไปตามรันเวย์และเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรง (จากเชื้อเพลิงเต็มถังที่เติมมาก่อนหน้านี้)

ผู้โดยสารรวมลูกเรือบินเครื่อง KLM ทั้งหมด 248 คน เสียชีวิตทั้งหมด ในขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรือ 61 คน จาก 396 คน ในเครื่อง Pan Am รอดชีวิต

ซากส่วนหางหรือ Vertical Stabilizer ของเครื่องบิน Boeing 747 ของ KLM

การสอบสวนพบว่ามีปัจจัยที่นำไปสู่อุบัติเหตุดังนี้:

     - สนามบินไม่พร้อมสำหรับการรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่สองลำ
     - สภาพอากาศที่ย่ำแย่
     - การสื่อสารด้วยศัพท์ที่ไม่เป็นมาตรฐานระหว่างหอควบคุมและลูกเรือ เช่น การใช้คำว่า “Takeoff” หรือ “ขึ้นบิน” โดยไม่จำเป็น เป็นเหตุให้ลูกเรือเข้าใจผิดว่าอนุญาตให้ขึ้นบิน
     - การไม่ทวนคำสั่งทางวิทยุโดยผู้รับ ทำให้ผู้ส่งไม่ทราบว่าผู้รับได้รับสารที่ถูกต้องหรือไม่
     - การที่ลูกเรือของเครื่องบิน KLM แม้รู้ว่ากำลังขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้ทักท้วงกัปตันของเครื่องบินที่เป็นผู้ตัดสินใจเครื่องบิน เนื่องจากกัปตันนั้นเป็นหัวหน้านักบินและมีตำแหน่งใหญ่ในสายการบิน
     - การไม่มีระบบเรดาร์ในการติดตามเครื่องบินบนภาคพื้น ทำให้หอควบคุมไม่ทราบตำแหน่งที่ชัดเจนของเครื่องบินในสนามบิน

บทเรียนจากเหตุการณ์อันน่าสลดนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติวงการการบินขึ้นเมื่อหน่วยงานดูแลด้านการบินออกกฎเข้มงวด เช่น บังคับการสื่อสารแบบเป็นมาตรฐาน เช่น ต้องใช้ศัพท์เฉพาะเท่านั้น ต้องทวนคำสั่งหรือทวนสารตลอดเวลา และการไม่ใช้คำศัพท์สำคัญโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของลูกเรือให้ลูกเรือคนอื่น ๆ นอกจากกัปตันนั้นมีอภิสิทธิ์และเสียงในการคัดค้านกัปตันได้

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โศกนาฏกรรมสนามบิน Tenerifeโศกนาฏกรรมสนามบิน Tenerifeเครื่องบินชนกันเครื่องบินเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด