ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กินอาจถึงตาย ! “ว่านจักจั่น” ความจริงคือจักจั่นติดเชื้อราตาย


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

6 พ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

กินอาจถึงตาย ! “ว่านจักจั่น” ความจริงคือจักจั่นติดเชื้อราตาย

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1847

กินอาจถึงตาย ! “ว่านจักจั่น” ความจริงคือจักจั่นติดเชื้อราตาย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

จากกรณีเด็กผู้หญิง อายุ 7 ปี รับประทาน “ว่านจักจั่น” แล้วมีอาการตัวสั่นทั้งตัว ตาสั่นไปมาควบคุมไม่ได้ ไม่สามารถนั่งหรือยืนเองได้ ร่วมกับมีอาการอาเจียนหลายครั้ง จนถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครพิงค์ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับ “ว่านจักจั่น” มาให้ได้ทราบว่าความจริงคือจักจั่นที่ตายแล้วจากการติดเชื้อรา กินไม่ได้ ! อาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต

“ว่านจักจั่น” ความจริงคือจักจั่นที่ติดเชื้อราแล้วตาย

ช่วงหน้าฝนหรือห้วงที่มีฝนตก วัตถุมงคลนามว่า “ว่านจักจั่น” จะงอกจากดิน โดยเรื่องอย่างนี้มีด้วยหรือ ? ช่างน่าสงสัยเหลือเกินว่าวัตถุมงคลอะไรจะงอกจากดินได้ ? แล้ว “ว่านจักจั่น” เป็นวัตถุมงคลตามความเชื่อจริง ๆ หรือ ?

จากข้อมูลตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่าว่านจักจั่น หรือ พญาว่านต่อเงินต่อทอง เป็นว่านกึ่งพืชกึ่งสัตว์ประเภทเดียวกับพวกมักกะลีผลผู้ใดมีบูชาก็จะมีทรัพย์สินงอกเงยไม่ขาดมือ

แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ได้ชี้ชัดไปแล้วว่า “ว่านจักจั่น” ที่หลายคนบูชาแท้แล้วคือ จักจั่นที่ตายแล้วจากการติดเชื้อรา ไม่มีส่วนไหนที่เป็นว่านหรือพืชเกี่ยวข้องตามที่เข้าใจ

โดย พญ.ปัณฑารีย์ เหล่าสืบสกุลไทย กุมารแพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลนครพิงค์ ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า “ว่านจักจั่น” (Cicada flower, ชื่อจีนคือ Chan hua (蟬花) และชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Cordyceps sobolifera,) คือซากของจักจั่นที่ตายจากการติดเชื้อรา เชื้อราที่อาศัยในซากจักจั่นจะเจริญเติบโต งอกออกมาพ้นผิวดินคล้ายพืช ซึ่งอาการของพิษจากว่านจักจั่น จะมีอาการทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหารเช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ชัก สั่น เห็นภาพหลอน หมดสติ อาจมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานว่านจักจั่นหรือซากแมลงตายที่อาจมีการติดเชื้อรา นอกจากจะไม่มีสรรพคุณทางยาแล้วยังมีอันตรายถึงชีวิตได้ หากรับประทานโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที

เชื้อราทำให้จักจั่นตาย จนกลายมาเป็น “ว่านจักจั่น” ได้อย่างไร

“ว่านจักจั่น” เกิดจากการที่จักจั่นติดเชื้อราในขณะที่เป็นตัวอ่อนในช่วงที่ขึ้นมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือดิน ในระยะนี้จักจั่นจะอ่อนแอมาก ร่วมด้วยช่วยกันกับอากาศชื้นจากหน้าฝนที่มีความชื้นสูง ทำให้เชื้อราที่แพร่กระจายได้ดีในอากาศ เมื่อเชื้อราตกลงไปอยู่บนตัวจักจั่นที่อ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ จึงทำให้เชื้อราสามารถแทงเส้นใยเข้าไปและงอกงามภายในตัวจักจั่นได้ดี โดยดูดน้ำเลี้ยงในตัวจักจั่นเป็นอาหาร และทำให้จักจั่นตายในที่สุด

จากนั้นเมื่อจักจั่นตายแล้วเชื้อราหมดทางหาอาหารจึงต้องพยายามไปหาอาหารที่อื่น โดยการสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนเขายืดขึ้นเหนือพื้นดิน (ลักษณะที่เหมือนเขาของว่านจักจั่น) สปอร์ หรือ หน่วยสืบพันธุ์ที่ติดอยู่บริเวณปลายเขาที่สร้างขึ้นเหนือพื้นดิน จะต้องอาศัยลมหรือน้ำในการพัดพาให้ไปตกอยู่ในที่อื่น ๆ เพื่อค้นหาจักจั่นโชคร้ายตัวต่อไป

สำหรับ “เชื้อรา” ที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในตัวแมลงที่มีชีวิต จัดอยู่ในประเภท เชื้อราทำลายแมลง ราชนิดนี้นักวิจัยสันนิษฐานว่าเป็นเชื้อราสายพันธุ์ Cordyceps sobolifer

ทั้งนี้ จากการศึกษาของนักวิจัยจากไบโอเทคพบว่ามีราทำลายแมลงในประเทศไทยมากกว่า 400 ชนิด พบได้ทั้งบนหนอน แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมลงปอ แมงมุม มด เป็นต้น


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : BIOTEC, พญ.ปัณฑารีย์ เหล่าสืบสกุลไทย กุมารแพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลนครพิงค์

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

จักจั่นว่านจักจั่นเชื้อราวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้ : 0854129703) : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด