ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตามติดสถานการณ์อุตสาหกรรม Semiconductor อาเซียน


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

6 พ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ตามติดสถานการณ์อุตสาหกรรม Semiconductor อาเซียน

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1850

ตามติดสถานการณ์อุตสาหกรรม Semiconductor อาเซียน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“Semiconductor” หรือ เซมิคอนดักเตอร์ คือ “สารกึ่งตัวนำ” ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มักมีส่วนประกอบของ germanium, selenium, silicon หัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ชิป (Chip) เป็นต้น ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำรายงานข้อมูลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia: SEA) ซึ่งจัดทำโดย The Straits Times มาให้ได้ทราบถึงแนวโน้ม - ทิศทาง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อาเซียน โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

การผลิต Semiconductor ในภูมิภาคอาเซียน

เริ่มขึ้นในช่วงปี 2513 เมื่อผู้ผลิตชิป (Chip) ของสหรัฐฯ ได้เริ่มย้ายกระบวนการผลิตบางส่วนไปยังประเทศในเอเชียซึ่งมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าและมีแรงงานที่มีทักษะ โดยมีสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้รับการลงทุนจากผู้ผลิตชิป (Chip) ของสหรัฐฯ เริ่มต้นจากกระบวนการประกอบ การทดสอบและการบรรจุหีบห่อ (Assemble, Testing, and Packaging – ATP) จนปัจจุบันสิงคโปร์และมาเลเซียได้พัฒนาเป็นการหล่อเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) เพื่อใช้ประกอบชิป (Chip) ในขณะที่กระบวนการ ATP กระจายไปยังไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซียเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ด้วยนโยบายอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศ

ธงชาติจีนและสหรัฐฯ บนพื้นหลังชิปคอมพิวเตอร์

การย้ายฐานการผลิต Semiconductor จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ส่งผลให้ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ระดับโลกแสวงหาวิธีลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้น การควบคุมการส่งออก และข้อจำกัดด้านแร่ธาตุที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) โดยนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร HSBC เชื่อว่า การย้ายฐานการผลิตเดิมของเอเชียจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนได้รับประโยชน์ทางการลงทุนสูงสุด

electronic-circuit-board-with-cpu-microchip-electronic-components

ความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม Semiconductor ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิงคโปร์

ได้พัฒนาจากประเทศที่ทำได้เพียงกระบวนการ ATP สู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลกด้านการประดิษฐ์และการออกแบบวงจรรวม (integrated circuit – IC) โดยสิงคโปร์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) มากกว่าร้อยละ 10 ของผลผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก โดยมีจุดแข็งคือการวิจัยและพัฒนา การผลิตชิป (Chip) หน่วยความจำและชิป mature-node นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้พัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยได้จัดตั้งศูนย์ National Semiconductor Translation and Innovation Centre (NSTIC) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระบบนิเวศ และเพิ่มผลลัพธ์ด้าน R&D translation และพัฒนา flat optics และ silicon photonics รวมทั้งจัดสรรเงินลงทุนเพื่อการวิจัย Research, Innovation and Enterprise 2025 (RIE2025) มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ระหว่างปี 2565-2568

อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุนการลงทุนสูง และมีพื้นที่จำกัด ทั้งนี้ ในปี 2565 สิงคโปร์มีส่วนแบ่งตลาด IC คิดเป็นร้อยละ 8.5 ของการส่งออก IC ทั่วโลก และในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออก IC จำนวน 104,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ จำนวน 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มาเลเซีย

เป็นแหล่งออกแบบ IC ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาด ATP อยู่ที่ร้อยละ 13 มาเลเซียมีจุดแข็งคือบริการ Outsourced Semiconductor Assembly and Test (OSAT) และมีเครื่องจักรที่มีความแม่นยำ ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศ National Semiconductor Strategy มูลค่า 25,000 ล้านริงกิต เพื่อดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง และส่งเสริมกิจกรรม front-end เช่น การผลิตแผ่นเวเฟอร์

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียยังคงขาดแคลนผู้มีความรู้ความสามารถในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ทั้งนี้ ในปี 2565 มาเลเซียมีส่วนแบ่งตลาด IC คิดเป็นร้อยละ 8.2 ของการส่งออก IC ทั่วโลก และในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออก IC จำนวน 74,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ จำนวน 10,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนาม

เป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) รายใหญ่อันดับ 3 ของเอเชียไปยังสหรัฐฯ (รองจากมาเลเซียและไต้หวัน) โดยมีจุดแข็งคือบริการ ATP และการออกแบบ IC ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมี National Semiconductor Workforce Training Programme เพื่อมอบเงินอุดหนุนสำหรับบริษัท รวมทั้งทุนสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่สามารถผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่ดีเพียงพอได้ ขาดแคลนผู้มีความรู้ความสามารถ ขาดแรงจูงใจจากภาครัฐ และปัญหาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งทำให้แหล่งจ่ายไฟในบางพื้นที่ไม่เสถียร ทั้งนี้ ในปี 2565 เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาด IC คิดเป็นร้อยละ 1.8 ของการส่งออก IC ทั่วโลก และในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออก IC จำนวน 32,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จำนวน 10,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

electronic-circuit-board-with-cpu-microchip-electronic-components

ไทย

เป็นประเทศที่เน้นบริการ ATP การประกอบและทดสอบชิป (Chip) การผลิต hard disk drives ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของประเทศไทย อีกทั้งรัฐบาลยังมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนด้วยการพยายามเจรจากับบริษัทที่ดำเนินการส่วน front-end ให้มาลงทุนในประเทศ เพิ่มการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Hana Microelectronics และบริษัทในเครือ ปตท. นักวิเคราะห์มองว่าจุดอ่อนของไทย ได้แก่ ช่องว่างของทักษะ พึ่งพาการนำเข้าสูง และมีความคุ้มค่าในการลงทุนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระดับภูมิภาค ในปี 2565 ไทยมีส่วนแบ่งตลาด IC คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของการส่งออก IC ทั่วโลก และในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออก IC จำนวน 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์จำนวน 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟิลิปปินส์

เป็นสถานที่ประกอบและทดสอบที่สำคัญของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ยักษ์ใหญ่ระดับโลก โดยจุดแข็งคือบริการ ATP รัฐบาลฟิลิปปินส์มียุทธศาสตร์อุตสาหกรรมระดับนำร่องของชาติที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตใน 12 อุตสาหกรรมหลักรวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี จุดอ่อนของฟิลิปปินส์ คือ การขาดแคลนผู้มีความรู้ความสามารถ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ และขาดแคลนความต้องการชิป (Chip) ในประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2565 ฟิลิปปินส์มีส่วนแบ่งตลาด IC คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของการส่งออก IC ทั่วโลก และในปี 2566 ฟิลิปปินส์มีมูลค่าการส่งออก IC จำนวน 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ จำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อินโดนีเซีย

แม้จะมีทรัพยากรเพื่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จำนวนมาก แต่อินโดนีเซียยังคงตามหลังคู่แข่งในภูมิภาค เนื่องจากอินโดนีเซียขาดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ขาดแคลนผู้มีความรู้ความสามารถ และมีต้นทุนการลงทุนสูง ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างดำเนินแผนงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซิลิกา และได้รับการลงทุนมูลค่า 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัท Xinyi Glass Holdings ของจีน เพื่อสร้างโรงงานแปรรูปทรายซิลิกาบนเกาะ Rempang ทั้งนี้ ในปี 2565 อินโดนีเซียมีส่วนแบ่งตลาด IC คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของการส่งออก IC ทั่วโลก และในปี 2566 อินโดนีเซียมีมูลค่าการส่งออก IC จำนวน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ชิป (Chip)

ความต้องการ Semiconductor ในอนาคต

ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ทั่วโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าตลาดจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างปี 2573 – 2575 จากการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 บริษัท Vanguard International Semiconductor ของไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ TSMC บริษัทผลิตชิป (Chip) ชั้นนำของโลก ได้ร่วมมือกับบริษัท NXP ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปสัญชาติยุโรปได้ประกาศจัดตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์เวเฟอร์ใน สิงคโปร์ภายใต้ชื่อบริษัท VisionPower Semiconductor Manufacturing Company ภายในปี 2570 มูลค่าการลงทุน 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มาเลเซียได้รับเงินสนับสนุน 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัท Infineon ของเยอรมนีในการสร้างโรงหล่อแห่งที่สาม ซึ่งจะผลิตชิป (Chip) พลังงานที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันประเทศไทยเน้นบริการ ATP ในปี 2565 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดด้านบริการ ATP ที่ร้อยละ 2 ขณะที่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซียมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 7 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 6 ส่วนเวียดนามต่ำกว่าร้อยละ 1 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในปี 2575 ส่วนแบ่งตลาดด้านบริการ ATP ของเวียดนามและมาเลเซียจะขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8 และร้อยละ 9 ตามลำดับ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยและฟิลิปปินส์ จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1 และร้อยละ 5 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนในบริการ ATP ได้แก่ แรงงานที่มีทักษะและมีค่าแรงต่ำ ความพร้อมของสาธารณูปโภคไฟฟ้าและน้ำประปา กฎระเบียบที่เอื้ออำนวยและอุปสรรคทางตลาดต่ำ ความปลอดภัยและนโยบายที่ดึงดูดการลงทุน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : straitstimes, straitstimes, straitstimes, ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC) สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Semiconductorเซมิคอนดักเตอร์สารกึ่งตัวนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิปChipเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้ : 0854129703) : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด