ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ขี้เถ้าภูเขาไฟ” หนึ่งในภัยอันตรายในการเดินอากาศ


Logo Thai PBS
แชร์

“ขี้เถ้าภูเขาไฟ” หนึ่งในภัยอันตรายในการเดินอากาศ

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1862

“ขี้เถ้าภูเขาไฟ” หนึ่งในภัยอันตรายในการเดินอากาศ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ขี้เถ้าภูเขาไฟ” จากการปะทุของภูเขาไฟ ถือเป็นหนึ่งในภัยอันตรายต่อการเดินอากาศเป็นอย่างมาก เนื่องจากการบินผ่านขี้เถ้าภูเขาไฟอาจสร้างความเสียหายต่อตัวเครื่องบินเองและนอกจากนี้ยังเป็นความเสี่ยงทางด้านการมองเห็นอีกด้วย ปัจจุบัน มีหน่วยงานกลางเรียกว่า “Volcanic Ash Advisory Centers” หรือ “VAACs” ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำแนะนำที่ประกอบไปด้วยการประสานงานระหว่างนักภูเขาไฟวิทยา นักพยากรณ์อากาศ และเจ้าหน้าที่การบิน เพื่อออกคำเตือนที่เกี่ยวข้องกับการปะทุของภูเขาไฟ และน่านฟ้าที่อาจได้รับผลกระทบต่อการปะทุของภูเขาไฟ

เมฆฝุ่นระอองขี้เถ้าภูเขาไฟสามารถถูกพัดด้วยลมไปไกลกว่าหลายพันกิโลเมตร

การปะทุของภูเขาไฟนั้นมักจะทำให้เกิดขี้เถ้าของภูเขาไฟพวยพุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟและลอยสูงอยู่ในอากาศเหนือปล่องของภูเขาไฟสูงสุดกว่าหลายพันกิโลเมตรจากการพัดของลม ขี้เถ้าภูเขาไฟเหล่านี้ประกอบไปด้วยอนุภาคขนาดเล็กของธาตุซิลิคอน เหล็ก และแมกนีเซียม

ด้วยระยะการลอยของขี้เถ้าที่อาจถูกลมพัดไปได้ไกลมาก ทำให้การปะทุของภูเขาไฟนั้นสร้างความเสี่ยงให้แก่น่านฟ้ารอบ ๆ ภูเขาไฟ ซึ่งเครื่องบินอาจบินเข้าไปในเมฆขี้เถ้าภูเขาไฟโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนที่นักบินมักแยกไม่ออกว่าเมฆที่ตนกำลังบินผ่านนั้นเป็นเมฆปกติหรือเมฆภูเขาไฟ

แผนที่แสดงพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เตือนภัยฝุ่นขี้เถ้าภูเขาไฟหรือ VAAC ในน่านฟ้าต่าง ๆ

ในช่วงก่อนปี 2000 มีหลายเหตุการณ์ที่เครื่องบินพาณิชย์เผลอบินเข้าไปในเมฆขี้เถ้าภูเขาไฟโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องบินร้ายแรงจนถึงขึ้นเครื่องยนต์ทุกเครื่องดับ เช่น ในกรณีของ British Airways เที่ยวบินที่ 9 ในปี 1982 เมื่อเครื่องเครื่องยนต์ทั้ง 4 ของเครื่องบิน Boeing 747 ดับลง (Flame-out) หลังจากได้รับความเสียหายจากการบินผ่านขี้เถ้าภูเขาไฟจากภูเขาไฟ Mount Galunggung ในอินโดนีเซีย แต่สามารถรีสตาร์ตใหม่ได้หลังจากบินออกจากบริเวณที่มีขี้เถ้าภูเขาไฟ จนลงจอดฉุกเฉินได้

การแก้ปัญหาหลัก ๆ จึงเป็นการให้นักบินหลีกเลี่ยงเส้นทางการบินที่อาจผ่านน่านฟ้าหรือบริเวณที่มีการปะทุของภูเขาไฟ ซึ่งการออกเตือนภัยมักจะทำโดยศูนย์ VAAC หรือศูนย์เตือนภัยจากขี้เถ้าภูเขาไฟต่าง ๆ ทั่วโลกซึ่งรับผิดชอบน่านฟ้าที่แตกต่างกัน

เครื่องบิน DC-10 ซึ่งถูกขี้เถ้าภูเขาไฟปริมาณมากตกใส่จนศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของเครื่องบินเอนไปข้างหลัง ทำให้หางของเครื่องบินแตะพื้น

ขี้เถ้าภูเขาไฟเป็นของแข็งน้ำหนักเบาและมีขนาดเล็กในอากาศ นอกจากนี้ยังมีจุดหลอมเหลวต่ำ เมื่อถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบินแล้วมักจะหลอมละลายในห้องสันดาปที่มีอุณหภูมิสูงก่อนที่จะลอยไปติดกับจานใบพัดของเครื่องยนต์ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ ทำให้เกิดการแข็งตัวและติดอยู่บนจานใบพัดเหล่านี้ที่กำลังหมุนด้วยความเร็วสูงอยู่ ทำให้ใบพัดของเครื่องยนต์เสียหาย จนอาจใช้การไม่ได้

นอกจากนี้การเกาะติดของขี้เถ้าภูเขาไฟในเครื่องยนต์อาจอุดตันชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ เช่น ช่องระบายลม ซึ่งจำเป็นต่อการอัดอากาศของ Compressor ทำให้เครื่องยนต์ขาดอากาศและดับลงได้ หรือที่เรียกว่า “Flame-out” โดยเครื่องยนต์ที่ “Flame-out” มักจะสามารถรีสตาร์ตใหม่ได้ แต่อาจจะยากขึ้นหากรีสตาร์ตกลางอากาศ

นอกจากเครื่องยนต์แล้ว ขี้เถ้ายังอาจไปอุดตันส่วนต่าง ๆ ของเครื่องบินได้ เช่น ระบบควบคุมการบินและเซนเซอร์ต่าง ๆ นอกผิวของเครื่องบิน

อนุภาคของขี้เถ้าภูเขาไฟเป็นของแข็งที่มีขนาดเล็กและมีจุดหลอมเหลวต่ำทำให้ง่ายต่อการหลอมละลายในเครื่องยนต์เครื่องบิน

เนื่องจากขี้เถ้าภูเขาไฟสามารถถูกพัดไปได้ไกลหลายพันกิโลเมตร การปิดน่านฟ้าจึงมักจะต้องเป็นการปิดน่านฟ้าที่กว้างกว่าปกติมาก ๆ ซึ่งนี่มักจะส่งผลให้เที่ยวบินหลายเที่ยวบินต้องถูกยกเลิกหรือถูก Divert ไปเส้นทางอื่นที่ไกลมาก ๆ จึงถือเป็นการรบกวนการเดินอากาศอย่างใหญ่หลวง

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ขี้เถ้าภูเขาไฟภูเขาไฟเครื่องบินเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด