คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันนิวเม็กซิโกเทค (New Mexico Tech Institute of Mining and Technology) ในรัฐนิวเม็กซิโกประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนา “โดรน” (Drone) ที่ใช้ชิ้นส่วนจาก “นก” จริง
รายงานระบุว่าโดรนสัตว์สตัฟฟ์ (taxidermy drone) หรือโดรนที่มีซากสัตว์ตายแล้วเป็นส่วนประกอบถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์และการบินเหมือนนกจริง โดยมีขนและปีกที่กระพือได้จริง ซึ่งช่วยให้โดรนนี้กลมกลืนไปกับสัตว์ป่าและช่วยป้องกันนกบินเข้าน่านฟ้าการบินหรือชนกับเครื่องบิน
ดร.มอสตาฟา ฮัสซานาเลียน (Mostafa Hassanalian) หัวหน้านักวิจัยและศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลของมหาวิทยาลัยฯ เชื่อว่าโดรนเหล่านี้สามารถช่วยชีวิต ประหยัดเงิน และรักษาสิ่งแวดล้อมได้
“บางครั้งนกจะบินมาโจมตีโดรนของคุณ โดรนได้รับความเสียหาย และในเวลาเดียวกัน นกก็ได้รับบาดเจ็บหรืออาจถึงตาย นอกจากนี้ โดรนส่งเสียงดังมาก ตัวอย่างเช่น หากเรากำลังติดตามฝูงช้างในแอฟริกาเพื่อติดตามสัตว์ป่า โดรนส่งเสียงดังมาก และสัตว์ต่าง ๆ ก็จะตกใจกลัวและแตกตื่น ทั้งนี้ ทีมวิจัยหวังว่านักวิจัยอื่น ๆ จะประสบความสำเร็จในการศึกษาสัตว์ป่าได้มากขึ้นด้วยการสร้างระบบหุ่นยนต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาตินี้” ดร.มอสตาฟา กล่าว
ทีมวิจัยของดร.มอสตาฟา ใช้เวลา 2 ปี ในการพัฒนาโดรนและหุ่นยนต์ไก่ฟ้า เป็ดแมลลาร์ด และนกพิราบ โดยโดรนเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการทดสอบ และปัจจุบันทีมวิจัยกำลังพิจารณาขออนุญาตบินโดรนเหล่านี้ร่วมกับนกจริงในสภาพแวดล้อมจริง
รายงานเสริมว่าหุ่นจำลองนกที่มีกลไกในการเคลื่อนไหว (animatronic bird) อาจถูกใช้ศึกษาโครงสร้าง สีสัน และการสื่อสารของนกได้ นอกเหนือจากระบบนิเวศธรรมชาติอื่น ๆ
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : usatoday, Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech