ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดาวเทียม NASA พบ “แหล่งน้ำจืด” บนผืนดินทั่วโลกกำลังลดลงฉับพลัน


Logo Thai PBS
แชร์

ดาวเทียม NASA พบ “แหล่งน้ำจืด” บนผืนดินทั่วโลกกำลังลดลงฉับพลัน

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1929

ดาวเทียม NASA พบ “แหล่งน้ำจืด” บนผืนดินทั่วโลกกำลังลดลงฉับพลัน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ข้อมูลจากดาวเทียมของ NASA พบว่า “แหล่งน้ำจืด” ทั้งหมดที่อยู่บนโลกกำลังลดลงอย่างฉับพลันตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งปี 2014 และไม่มีท่าทีจะฟื้นตัวจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจชี้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะแห้งแล้งที่เลวร้ายยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ

ทีมนักวิจัยจากนานาชาติได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Gravity Recovery and Climate Experiment (GRACE) และ GRACE–Follow On (GRACE–FO) ดาวเทียมสำรวจความโน้มถ่วงโลกที่ได้รับทุนดำเนินการจากศูนย์อวกาศเยอรมัน ศูนย์วิจัยธรณีวิทยาเยอรมัน และ NASA มาวิเคราะห์การผันผวนของแรงโน้มถ่วงจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทั้งผิวดินและใต้ดิน ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลเผยให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันปริมาณน้ำจืดบนผิวดินและใต้ดินลดลงอย่างฉับพลันและไม่มีทีท่าว่าจะมีการฟื้นตัว

ภาพแผนภูมิแผนที่ปริมาณน้ำจืดบนพิ้นผิวทั่วโลกแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ลดลงในทุกภูมิภาคของโลกตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2023 โดยสีแต่ละตำแหน่งแสดงให้เห็นถึงภูมิภาคที่มีระดับน้ำต่ำสุดในช่วงเวลานั้น

ข้อมูลของปี 2015–2023 แสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำจืดบนพื้นดินและใต้ดินโดยเฉลี่ย เช่น ทะเลสาบและแม่น้ำ ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของช่วงปี 2002 ถึงปี 2014 มากถึง 1,200 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือเทียบเท่าปริมาณน้ำในทะเลสาบอีรี (Erie Lake) สองเท่าครึ่ง (ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก เป็นหนึ่งในกลุ่มทะเลสาบทั้ง 5 หรือ Great Lakes ของทวีปอเมริกาเหนือ)

การลดลงของปริมาณน้ำในปี 2015 นั้นสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ภัยแล้งครั้งใหญ่ในทางตอนเหนือและตอนกลางของบราซิลในปี 2014 ตามมาด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งใหญ่ที่รุนแรงในปี 2014-2016 ซึ่งสร้างผลกระทบด้านภูมิอากาศไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญในครั้งนั้นจบลงไปแล้วกว่า 10 ปีก็ตาม แต่ความรุนแรงของเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ไม่สามารถฟื้นปริมาณน้ำจืดบนโลกให้เพิ่มขึ้นและกลับมายังระดับก่อนหน้าเหตุการณ์ได้

หนึ่งในปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของระดับน้ำจืดทั้งบนผิวดินและใต้ดิน คือภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนาน ส่งผลให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อมาใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งถึงแม้ว่าแหล่งน้ำใต้ดินจะสามารถฟื้นฟูระดับน้ำได้เองตามธรรมชาติ แต่แหล่งน้ำใต้ดินหลาย ๆ แหล่งบนโลกต้องใช้ระยะเวลาหลักร้อยถึงพันปีในการฟื้นฟูและเติมเต็มระดับน้ำ ยังไม่รวมกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้ฝนตกหนักมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลทำให้ฝนที่ตกลงมามีปริมาณที่มากและรุนแรง ถึงแม้ว่าเมื่อคำนวณปริมาณเฉลี่ยตลอดทั้งปีปริมาณหยาดน้ำฟ้าจะค่อนข้างคงที่ แต่การที่ฝนตกในช่วงเวลาหนึ่งหนัก ก็ทำให้ดินแข็งและจับตัวเป็นก้อน ส่งผลให้เมื่อเวลาผ่านไป บริเวณนั้นจะดูดซับน้ำได้แย่ลง กลายเป็นเมื่อฝนตกลงมาน้ำไหลไปที่อื่นไม่ได้ถึงดูดซับโดยชั้นดิน และภัยแล้งที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงฤดูฝนก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ภาพถ่ายไฮเอร์สเปกตรัมทางตอนเหนือของแม่น้ำอะเมซอนแสดงความหลากหลายทางธรรมชาติของระบบนิเวศน์ ซึ่งัจจัยข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้กับงานวิจัยมากมาย

ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2014–2016 สามารถเทียบเคียงความรุนแรงของเอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี 1950 ได้เลย เอลนีโญปี 1950 รุนแรงจนเปลี่ยนแปลงกระแสลมกรดในชั้นบรรยากาศของโลกและก่อให้เกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ขึ้นในช่วงเวลานั้นและต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าที่จะกลับเข้าสู่ปกติ แต่ดูเหมือนว่าภัยแล้งและปริมาณน้ำจืดบนผิวดินที่ลดลงในทุกภูมิภาคของโลก นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่าอาจจะมีเหตุปัจจัยมาจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงด้วย

แม้ดูเหมือนว่าภาวะโลกร้อนจะมีส่วนและนักวิทยาศาสตร์หลายคนในทีมวิจัยจะลงความเห็นว่าเป็นเช่นนั้น แต่การที่จะกล่าวว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกับระดับน้ำจืดบนผิวดินลดลงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้โดยตรงเพราะการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำบนผิวดินนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย ทั้งการขยายตัวของประชากรและการบริโภคน้ำจืด การเปลี่ยนแปลงของกระแสลมกรด หรือการเปลี่ยนองศาของแกนโลกก็ล้วนเป็นเหตุปัจจัยถึงการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำจืดบนผิวดินทั้งนั้น

ภาพวาดของดาวเทียม GRACE ที่ใช้ในการวัดระดับน้ำบนพื้นผิวจากแรงโน้มถ่วง

ถึงแม้ว่าหัวข้อข่าวเกี่ยวกับการลดลงของแหล่งน้ำจืดบนพื้นผิวโลกจะเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่หากพูดกันตามความเป็นจริง โลกของเรามีกระบวนการกักเก็บน้ำที่ยอดเยี่ยมและสามารถอนุมานได้ว่าปริมาณน้ำบนโลกตั้งแต่บรมยุคเฮเดียน (4,000 ล้านปีก่อน) จนถึงปัจจุบันไม่เคยหายไปแม้แต่หยดเดียว แต่น้ำบนโลกเพียงแค่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของมัน จากน้ำบริสุทธิ์ไปเป็นไอน้ำ เมฆ น้ำเค็ม หรือน้ำแข็ง เท่านั้น การที่น้ำจืดบนผิวดินลดลงและแปรสภาพเป็นไปน้ำเค็มหรือไอน้ำจึงไม่ได้หมายความว่าน้ำบนโลกกำลังหายไป

ปริมาณน้ำจืดที่สะอาดและมนุษย์เข้าถึงได้ มีอยู่ไม่ถึง 1% ของปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลก ดังนั้นแม้มวลน้ำทั้งหมดบนโลกจะคงที่ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือปริมาณน้ำจืดที่มนุษย์นำไปใช้งานได้นั้นลดลง

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คนก็ยังไม่สามารถออกมาคาดการณ์ได้ว่าปริมาณน้ำจืดบนโลกจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับปริมาณก่อนหน้าเหตุการณ์ในปี 2014 ได้เมื่อไร


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวเทียม GRACEGRACEGravity Recovery and Climate Experimentดาวเทียมนาซาองค์การนาซาNASAแหล่งน้ำจืดน้ำจืดเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด