Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ "Department of Skill" ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กระบุข้อความให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการแจกเงินเพื่อส่งเสริมพัฒนา ธุรกรรมบริษัท อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบการนำภาพข่าวจากเพจเฟซบุ๊กจริงของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาแอบอ้าง
แหล่งที่มา : Facebook
กระบวนการตรวจสอบ
จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ "Department of Skill" ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กข้อความระบุว่า “โครงการแจกเงินเพื่อส่งเสริมพัฒนาธุรกรรมบริษัท”
คุณสมบัติ
1.ชื่อบัญชีต้องตรงกับชื่อจริงของเจ้าของบัญชี
2.เงินส่วนนี้จะสามารถรับได้ไม่เกิน 1 ครั้งต่อคน
3.ไม่สามารถแนะนำกันเพื่อรับเงินได้
4.สิทธิการรับเงินจะได้เฉพาะคนที่เห็นโพสต์เท่านั้น
ขณะที่เมื่อตรวจสอบไปยังเฟซบุ๊กดังกล่าวพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ระบุในช่องแนะนำตัวว่าเป็นเพจศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว ถูกสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2021 แต่เพิ่งมีการเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อบัญชีปัจจุบันเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา ทั้งนี้หากเทียบกับเพจจริงของ "กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน" พบว่า เพจจริงของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถูกสร้างเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2011 (ลิงก์บันทึก)
นอกจากนี้ยังพบว่า เพจปลอมมีการนำภาพโลโก้และภาพหน้าปกของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
อีกทั้งยังพบว่า เพจปลอมมีการนำเนื้อหาข่าวของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นข่าวของ นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการระดับชาติ มาโพสต์ในเพจเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้เพจปลอมดูเหมือนเพจจริงมากที่สุดอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)
ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?
โฆษณาดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจส่งข้อความสอบถามจำนวนมาก โดยมีผู้ส่งข้อความเข้าไปยังโฆษณาดังกล่าวกว่า 300 คน รวมถึงกดถูกใจไปกว่า 518 คน และแชร์วิดีโอดังกล่าวไปแล้ว 15 ครั้ง โดยผู้ที่เข้าไปสอบถามส่วนใหญ่ ล้วนแสดงความสนใจในข้อความโฆษณาดังกล่าวเข้าไปจำนวนมาก
ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?
เราได้ตรวจสอบข้อมูลไปยังกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งได้ชี้แจงว่า เพจที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ที่ชื่อว่า Department of Skill เป็นเพจปลอม ไม่ใช่เพจเฟซบุ๊กของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแต่อย่างใด แต่เป็นการคัดลอกภาพและข้อความจากเพจ facebook จริงมาใช้ รวมถึงมีการซื้อโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงประชาชนจำนวนมาก
วิธีตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้น
หากประชาชนสงสัย สามารถตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้น ด้วยการสังเกตที่เพจ facebook ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ถูกต้องจะใช้ชื่อว่า "กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน" และมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า (Blue Tick) หลังชื่อเพจ มีจำนวนผู้ติดตามกว่า 1.3 แสนคน และที่สำคัญกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่มีโครงการแจกเงินเพื่อส่งเสริมพัฒนาธุรกรรมบริษัทแต่อย่างใด
ดังนั้นหากพบโฆษณาหรือโพสต์ในลักษณะดังกล่าว
✅พึงระวังไว้เสมอว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือมิจฉาชีพ
✅ช่วยกันกดรีพอร์ตเพจปลอม พร้อมบล็อคทันที
✅สังเกตเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า (Blue Tick) หลังชื่อเพจ หากเป็นเพจที่เป็นทางการจริง (ลิงก์บันทึก)
✅สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 4
✅สังเกตจากการดูที่จำนวนผู้ติดตามเมื่อเทียบกับยอดถูกใจ เช่น กรณีเพจนี้ที่มียอดของผู้ติดตามสูงถึงกว่า 10,000 คน แต่กลับไม่มียอดถูกใจในโพสต์อื่น ๆ ของเพจมากเท่าใดนัก ซึ่งทำให้สังเกตได้ง่ายขึ้นว่าอาจเป็นเพจปลอม