หน่วยงานด้านสุขภาพระบุว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างว่าเมล็ดมะละกอสามารถ "ทำลาย" เกราะหุ้มเซลล์มะเร็งได้ คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในไทย และอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างไม่ถูกต้อง AFP ได้ตรวจสอบกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับการยืนยันว่า ไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเมล็ดมะละกอแต่อย่างใด
"คนไทยเก่งที่สุดในโลก" เป็นผลงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการกินเมล็ดมะละกอสุกเพียงวันละ3เมล็ดโดยไม่ต้องกินน้ำตาม เมล็ดมะละกอจะเข้าไปทำลายเกราะที่หุ้มตัวเซลมะเร็ง" โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 เมษายนระบุ
วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นผลมะละกอสุกที่ผ่าออกมา และมีเมล็ดอยู่ข้างใน
คลิปดังกล่าวยังมีข้อความที่เขียนว่า "อย่าทิ้ง!! เมล็ดมะละกอกำจัด มะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ ปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว" และได้ยินเสียงคนพากย์เกี่ยวกับคุณสมบัติของเมล็ดมะละกอเป็นภาษาไทย
คำกล่าวอ้างนี้แพร่กระจายอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นอย่างน้อย โดยบางโพสต์เช่น ที่นี่ และ นี่ ได้แชร์วิดีโอที่เผยให้เห็นนักวิจัยชาวไทยคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับรายการข่าวทางโทรทัศน์
ข้อความที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอเขียนว่า "นักวิจัย มช. ค้นพบวิธีทำลายเกราะเซลล์มะเร็ง งานวิจัยจดสิทธิบัตรโลก"
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดอันดับคำกล่าวอ้างนี้ให้เป็นข่าวปลอมในไทยที่ "มีการแชร์วนซ้ำบ่อยที่สุด" ในปี 2565 (ลิงก์บันทึก)
ในเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน 2567 คำกล่าวอ้างดังกล่าวถูกนำกลับมาแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์อีกครั้ง โดยมียอดแชร์รวมกันนับหลายพันครั้ง เช่น ที่นี่ และ นี่ นอกจากนี้ คำกล่าวอ้างนี้ยังถูกแชร์อย่างแพร่หลายใน LINE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นส่งข้อความยอดนิยม
วิจัยเกี่ยวกับงา ไม่ใช่มะละกอ
นักวิจัยที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอคือ ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ ประจำภาควิชาเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คลิปวิดีโอในโพสต์ดังกล่าว เป็นวิดีโอที่ดร.ปรัชญาให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยเขานำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดงาดำ ไม่ใช่เมล็ดมะละกอตามคำกล่าวอ้าง (ลิงก์บันทึก)
ช่อง 9 อสมท. ได้โพสต์คลิปสัมภาษณ์ดังกล่าวไว้ในช่องยูทูบ โดยระบุหัวข้อว่า "สุดยอดงานวิจัยไทย 'เซซามิน' สารสกัดงาดำ พบ 4 คุณสมบัติสำคัญ"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวเท็จ (ซ้าย) และวิดีโอของช่อง 9 อสมท. ที่แชร์ในช่องยูทูปเมื่อปี 2563 (ขวา)
ดร.ปรัชญากล่าวยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ว่า เขาไม่เคยทำการวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดมะละกอเลย
"เป็นคำกล่าวอ้างที่มั่วมากครับ ไม่เคยมีงานวิจัยแบบนี้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เลย" ปรัชญากล่าว
"ผมไม่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดมะละกอเลย ผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดงาดำและผลไม้ตระกูลส้ม"
ในงานวิจัยดังกล่าว ดร.ปรัชญาเน้นศึกษาศักยภาพของสารสกัดจากงาดำ เมล็ดส้ม และเมล็ดมะนาว ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง งานวิจัยส่วนหนึ่งของเขาได้รับการตีพิมพ์ในปี 2558 และ 2564 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
'ไม่มีหลักฐานงานวิจัย'
แม้มะละกอจะอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี แต่หน่วยงานด้านสุขภาพระบุว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าการเคี้ยวเมล็ดมะละกอสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ (ลิงก์บันทึก)
สถาบันมะเร็งแห่งชาติในประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็น "ข้อมูลเท็จ"
เจ้าหน้าที่ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเคยมีการตรวจสอบคำกล่าวอ้างนี้มาก่อน ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้เผยแพร่รายงานตรวจสอบไว้หลายครั้ง
"จากข้อมูลวิชาการยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่า การรับประทานเมล็ดมะละกอสุกช่วยรักษามะเร็งระยะสุดท้ายในคนได้" สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้แถลงไว้ในรายงานในปี 2565 และ 2566 เช่น ที่นี่ และ นี่ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
รายงานเหล่านี้ระบุว่า แม้มีรายงานวิจัยที่พบสารสำคัญของเมล็ดมะละกอที่สามารถช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง แต่การศึกษานี้ยัง "เป็นเพียงการศึกษาที่อยู่ในระดับหลอดทดลองเท่านั้น"
"ยังไม่มีการศึกษาในระดับสัตว์ทดลองหรือในมนุษย์" รายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ระบุ "จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายขั้นตอน"
AFP ได้รับการยืนยันจากสำนักโภชนาการในประเทศไทย ซึ่งดำเนินงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน
"จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่าปริมาณเบนซิลไอโซไทโอไซยาเนตที่พบในเมล็ดมะละกอหนึ่งหน่วยบริโภคนั้น ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่อย่างไร" เจ้าหน้าที่ของสำนักโภชนาการระบุในอีเมลกับ AFP เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567
เจ้าหน้าที่ยังระบุต่อด้วยว่า การกินเมล็ดมะละกอมากเกินไปอาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ เนื่องจากเมล็ดมะละกอเป็นแหล่งของใยอาหาร
ข้อมูลจาก : AFP