“รถ” เป็นหนึ่งในของรักของหวงของหลายคน เคยเป็นกันหรือไม่ เวลาจะจอดรถ ดูแล้วดูอีกว่าบริเวณนั้นปลอดภัยหรือไม่ ร่มหรือไม่ ไม่มีกิ่งไม้หรือยางจากต้นไม้มาหล่นใส่ โดยเฉพาะกับช่วงฤดูร้อนอย่างนี้ หลายคนต้องจำใจจอดรถตากแดด ไทยพีบีเอส สรุปมาให้

4 ผลกระทบ เมื่อจอดรถตากแดด
1. สีรถซีดหมอง เพราะรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงแดด สามารถทำลายชั้นเคลือบสีรถยนต์ ทำให้สีซีดจางและไม่เงางาม
2. ฟิล์มกรองแสงเสื่อมสภาพ การสัมผัสกับแสงแดดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฟิล์มกรองแสงเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น สังเกตได้จากสีฟิล์มที่เปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือเกิดฟองอากาศ
3. ชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารเสียหาย คอนโซล พวงมาลัย และเบาะนั่งอาจเสื่อมสภาพหรือแตกกรอบ เมื่อโดนแสงแดดเป็นเวลานาน
4. ยางรถยนต์เสื่อมสภาพ ความร้อนจากแสงแดดสามารถทำให้ยางรถยนต์เสื่อมสภาพเร็วขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการระเบิด
รถที่จอดตากแดดอุณหภูมิภายนอกว่าร้อนแล้ว แต่อุณหภูมิภายในที่เป็นอากาศปิดยิ่งสูงกว่า อาจถึง 40-50 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า จึงมีข่าวการเสียชีวิตภายในรถยนต์ที่จอดดับเครื่องตากแดดให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ รวมถึงสิ่งของที่วางไว้ในรถจอดตากแดด อาจสร้างความเสียหายได้

5 สิ่งของต้องระวังเมื่อจอดรถตากแดด
1. พาวเวอร์แบงก์ แบตเตอรี่ทำมาจากลิเธียมไอออน เป็นสารเคมีชนิดเหลว ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี หากได้รับความร้อนสูงเป็นเวลานาน อาจระเบิดได้ อีกทั้งการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อน ยังทำให้พาวเวอร์แบงก์เสื่อมเร็ว
2. โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มือถือใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ จึงต้องระวังไม่ต่างจากพาวเวอร์แบงก์
3. ขวดน้ำดื่ม แม้ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะออกมาคลายความกังวลว่าขวดน้ำดื่ม ที่อยู่ในรถจอดตากแดดจะดื่มได้ ไม่ส่งผลให้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคต่าง ๆ ต่อร่างกาย แต่การวางขวดน้ำภายในรถยนต์ อาจเจอกับแสงแดดตกกระทบ ทำให้เกิดการหักเหและจุดรวมแสง ส่งผลให้เกิดความร้อน นำไปสู่เพลิงไหม้ได้
4. ไฟแช็ก เป็นคำเตือนของการใช้ไฟแช็กอยู่แล้ว ว่าห้ามเก็บในที่อุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส และห้ามเผาทิ้ง จึงไม่ควรวางไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด
5. กระป๋องสเปรย์ เมื่อเจอความร้อนกระป๋องสเปรย์จะมีแรงดันที่พร้อมขยายตัวอย่างช้า ๆ จนอาจทำให้เกิดการระเบิดได้ จึงไม่ควรเก็บกระป๋องสเปรย์ใด ๆ ไว้บนรถ เช่น สเปรย์กันแดด สเปรย์น้ำหอม สเปรย์น้ำมันหล่อลื่น
ถึงตรงนี้หลายคนอาจทราบว่าผลกระทบการจอดรถตากแดดแล้ว แต่หลายคนเลี่ยงเผชิญไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ฉะนั้นต้องรู้วิธีลดอุณหภูมิภายในรถเมื่อต้องจอดตากแดด

6 วิธีลดความร้อนในรถ เมื่อต้องจอดตากแดด
1. หันหน้ารถไปทางทิศเหนือ เลือกที่จอดรถที่สามารถหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือหันท้ายรถเข้าหาแสงแดด เพื่อลดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างแสงแดดกับกระจกบานหน้า ซึ่งบานใหญ่และฟิล์มกรองแสงสามารถกันแสงแดดและความร้อนได้น้อยกว่าทุกบาน
2. ลดกระจกลงเล็กน้อย ก่อนดับเครื่องยนต์ให้กดลดระดับกระจกลง 1-2 เซนติเมตร จะช่วยระบายความร้อนภายในรถยนต์ได้ ในรถที่ไม่มีการติดตั้งคิ้วที่บานกระจกข้าง ให้ระวังฝนตก
3. ใช้ผ้าคลุมรถ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้รถยนต์เป็นประจำ แนะนำให้ใช้ผ้าคลุมรถที่ได้มาตรฐานและคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันรังสียูวีและความร้อนแล้ว ยังช่วยลดรอยขีดข่วนได้ หรือกรณีใช้รถเป็นประจำ ให้ใช้ที่บังแดดที่ปิดกระจกหน้า
4. เปิด-ปิดประตูไล่อากาศร้อน หลังจากจอดรถตากแดดและเตรียมสตาร์ตรถยนต์ ให้ลดระดับกระจกประตูฝั่งตรงข้าม 1-2 นิ้ว แล้วเปิด-ปิดประตูซ้ำ ๆ 5-6 ครั้ง ให้อากาศภายนอกเข้าไปแทนที่อากาศร้อน สามารถลดอุณหภูมิได้เกือบ 10 องศาเซลเซียส
5. เปิดกระจกให้สุดทุกบาน หลังจากจอดรถตากแดดและเริ่มสตาร์ตรถยนต์ ให้เปิดกระจกทุกบานลงสุดทิ้งไว้ 1-2 นาที ช่วยลดอุณหภูมิภายในห้องโดยสารอย่างรวดเร็ว
6. ขับรถออกไปจากที่จอด โดยยังไม่ปิดกระจกห้องโดยสาร แรงลมจากภายนอกจะเข้ามาแทนที่อากาศร้อนภายในรถยนต์

3 ขั้นตอนเปิดแอร์รถยนต์ให้เย็นเร็ว-ลดภาระเครื่องยนต์ ช่วงอากาศร้อน
แน่นอนว่าเข้ามาในรถยนต์ที่จอดตากแดดในฤดูร้อน สิ่งแรกที่หลายคนทำคือ รีบเปิดแอร์ เปิดลมแรงสุด ในระดับความเย็นที่คุ้นเคย มี 3 ขั้นตอนเปิดแอร์รถยนต์ให้เย็นเร็ว-ลดภาระเครื่องยนต์ ช่วงอากาศร้อน
1. เปิดกระจกรถยนต์ทิ้งไว้สักครู่ เพื่อระบายความร้อนที่สะสมภายในรถออกไป
2. หลังสตาร์ตรถยนต์ ให้เปิดพัดลมแอร์ที่ความเร็วสูงสุดโดยยังไม่เปิดระบบทำความเย็น (A/C) เพื่อเป่าความร้อนที่สะสมในท่อแอร์ออกก่อน
3. เมื่ออากาศร้อนถูกระบายออกแล้ว ค่อยเปิดระบบทำความเย็น (A/C)
นอกจากดูแลรถยนต์ที่ต้องจอดตากแดดร้อนแล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพร่างกาย ลดกิจกรรมกลางแจ้ง และดื่มน้ำให้มาก ๆ